กรรมที่เกิดจากการทำลายพระพุทธรูป

เขียนโดย 
 
 
ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑ พระเจ้าศศางกะ กษัตริย์อินเดียผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เกิดริษยาความเจริญของพระพุทธศาสนา จึงคิดจะทำลายล้าง

 
โดยจัดการกับวิหารมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก่อน ในวิหารนั้นมีพระพุทธรูปอันงดงาม พระเจ้าศศางกะสั่งให้แม่ทัพจัดการทำลายพระพุทธรูปทันที แล้วเสด็จออกไปตัดต้นมหาโพธิ์ ส่วนภายในวิหารปล่อยให้แม่ทัพจัดการ
 
ฝ่ายแม่ทัพเป็นผู้รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่กล้าทำตามคำสั่งนาย ได้ดำริว่า ถ้าทำลายพระพุทธรูปตามโองการของพระราชา เราก็ต้องตกนรก ถ้าไม่ทำตามโองการ ศีรษะก็จะไม่อยู่กับบ่า ในที่สุดคิดอุบายร่วมกับคนสนิท ก่อกำแพงบังพระพุทธรูปนั้นให้มิด แล้วทูลพระราชาว่าทำลายเสร็จสิ้นแล้ว
 
พระเจ้าศศางกะชอบพระทัย พอล่วงไป ๗ วัน ก็บังเกิดโรคพุพองเปื่อยเน่าไปทั่วสรีระ กษัตริย์ใจบาปนี้ได้เสวยทุกขเวทนาอย่างสาหัสจนสิ้นพระชนม์ ฝ่ายแม่ทัพก็รีบมารื้อกำแพงออกทันที
 
เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แม้พระพุทธรูปยังไม่ได้ถูกทำลาย แต่เป็นผลอันเกิดจากการทำอันตรายต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งพระพุทธองค์อาศัยร่มเงาในคืนตรัสรู้
 
#‎อีกเรื่องหนึ่ง‬
อ.เสถียร โพธินันทะ ได้ยินผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าว่า ท่านได้เห็นชายชราเป็นโรคผิวหนังพุพองเปื่อยเน่าทั้งตัว ทั้งยังเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ ต้องเที่ยวถัดไปตามถนนขอทานเขากิน ชายชราผู้นี้เล่าชีวประวัติให้ผู้ใหญ่ท่านนั้นฟังว่า...
 
เมื่อหนุ่มหากินทางขโมยลอกทองพระพุทธรูปบ้าง เที่ยวขุดทรัพย์ในองค์พระปฏิมาตามวัดร้างโบราณ ทำให้องค์พระเสียหายขาดอวัยวะไป บัดนี้กรรมตามทันมาสนองให้ต้องทรมานอย่างนี้หลายปีแล้ว และรู้ตัวว่าหากตายไปคงตกนรกแน่นอน..
 
ผู้ใหญ่ท่านนั้นเล่าว่า ได้เห็นสภาพของชายชราแล้ว ใจของท่านสลดสังเวชมาก เพราะมีสภาพเกือบไม่เป็นมนุษย์ ตามตัวเน่าไปหมดส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งทีเดียว เป็นการตกนรกทันตาเห็นอยู่แล้ว
 
พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดเป็นปูชนียวัตถุสูงสุด ผู้สร้างพระพุทธรูปจะได้ประโยชน์ดังนี้
๑. ได้บุญตั้งแต่วินาทีแรกที่คิดสร้าง เพราะเป็นความคิดอันประกอบด้วยศรัทธาในพระพุทธองค์ จัดเป็นตถาคตโพธิสัทธา
๒. เมื่อบริจาคทรัพย์ในการสร้างจัดเป็นทานบารมี
๓. เมื่อขวนขวายติดตามตลอดงานจัดสร้างพระปฏิมาจัดเป็นกุศลส่วนเวยยาวัจจมัย (บุญเกิดจากการขวนขวายในกิจที่ชอบ)
๔. เมื่อองค์พระปฏิมาสำเร็จบริบูรณ์ ได้เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงพระพุทธคุณ ทั้งตนเองด้วย ทั้งผู้อื่นด้วย กุศลจะเกิดเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ได้อาศัยพระปฏิมาเป็นสื่อน้อมนำให้ระลึกถึง พระคุณของพระพุทธเจ้าเป็นบ่อเกิดแห่งกุศลจริยาอื่นๆ อีกเป็นอันมาก
๕. อำนาจแห่งกุศลที่สร้างพระปฏิมาส่งผลให้เกิดเป็นคนรูปงาม มีบุคลิกสง่า เป็นที่เคารพรักใคร่ของประชุมชน มีอิสริยยศ บริวาร ทรัพย์สมบัติ ตลอดจนความสุขสถาพร ไม่เป็นโรควิกลจริต
๖. ในสมัยมรณกาล หากมีอารมณ์ในกุศลกิจนั้นมาปรากฏให้จิตยึดก่อนจะจุติ ย่อมปิดอบายภูมิและส่งให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิทันที
 
ส่วนการทำลายพระปฏิมานั้น ในคัมภีร์ชั้นฎีกา ท่านแสดงไว้ว่า มีบาปเท่ากับทำลายต่อองค์พระบรมศาสดาเหมือนกัน ถึงห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน เที่ยงต่อการตกนรกหมกไหม้....
 
แม้ในกฎหมายโบราณ ท่านก็ตราเป็นพระราชกำหนดว่า ผู้ใดทำอันตรายต่อพระพุทธรูป มีตัดแขนพระเป็นต้น ก็ให้จับมันมาลงโทษด้วยการตัดแขนบ้าง ที่ต้องกำหนดโทษรุนแรงทั้งฝ่ายโลกฝ่ายธรรมอย่างนั้น ก็เพราะการทำลายพระพุทธรูปด้วยบาป เจตนาเท่ากับเป็นการทำลายจิตใจของชาวพุทธทั่วไป
 
การทำอันตรายต่อปูชนียวัตถุอันเป็นมิ่งขวัญสูงสุดทางใจของคนจำนวนมากอย่างนั้น ก็ต้องมีผลตอบรุนแรงมากตามธรรมดา..
การที่ท่านว่าห้ามสวรรค์ห้ามนิพพาน ก็เพราะคนที่มีใจบาป กล้าทำอันตรายพระปฏิมาได้ คนนั้นไหนเลยจะมีแก่ใจปฏิบัติธรรม เมื่อไม่ได้ปฏิบัติธรรมแล้วที่ไหนจะได้สวรรค์นิพพานเล่า เมื่อห้ามสวรรค์นิพพานแล้ว คติที่ผู้นั้นจักไปก็มีแต่อบายภูมิ ๔ เท่านั้น...
 
..............................................
(เสถียร โพธินันทะ)
วัดเจ็ดเสมียน เมตตาบารมี (ธรรมะธรรมทาน)
ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ วัน, วันที่ เดือน ปี ชม:นาที