กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 366/4 ว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ”
ดังนั้น ญาติผู้ตาย สามารถฟ้องร้อง เพราะการเผยแพร่ภาพศพถือเป็นสภาพที่ไม่น่าดูของผู้ตาย ทั้งผู้ตายและญาติไม่ต้องการเผยแพร่ภาพเหล่านั้น การแชร์ภาพศพ หรือโพสต์ภาพศพ
จึงไม่ต่างอะไรไปจากการดูหมิ่นผู้ตาย!
อ้างอิง : ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 366/4 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558 (http://bit.ly/29gTka5)
.
Cradit..สำนักงานกิจการยุติธรรม
...............
พระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
เป็นปีที่ 70 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2558”
มาตรา 2[1] พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (16) ของมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
“(16) “เจ้าพนักงาน” หมายความว่า บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติว่าเป็นเจ้าพนักงานหรือได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ไม่ว่าเป็นประจำหรือครั้งคราว และไม่ว่าจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่”
มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 102 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 102 ความผิดลหุโทษ คือ ความผิดซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 5 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นลักษณะ 13 ความผิดเกี่ยวกับศพ มาตรา 366/1 มาตรา 366/2 มาตรา 366/3 และมาตรา 366/4 ในภาค 2 ความผิดแห่งประมวลกฎหมายอาญา
“ลักษณะ 13
ความผิดเกี่ยวกับศพ
มาตรา 366/1 ผู้ใดกระทำชำเราศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของศพ หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของศพ
มาตรา 366/2 ผู้ใดกระทำอนาจารแก่ศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 366/3 ผู้ใดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งศพ ส่วนของศพ อัฐิ หรือเถ้าของศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 366/4 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 6 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 367 มาตรา 368 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา 369 มาตรา 370 มาตรา 371 มาตรา 372 มาตรา 373 มาตรา 374 มาตรา 375 มาตรา 376 มาตรา 377 มาตรา 378 มาตรา 379 มาตรา 380 มาตรา 381 มาตรา 382 มาตรา 383 มาตรา 384 มาตรา 385 มาตรา 386 มาตรา 387 มาตรา 388 มาตรา 389 มาตรา 390 มาตรา 391 มาตรา 392 มาตรา 394 มาตรา 395 และมาตรา 396 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้อัตราโทษต่อไปนี้แทน
มาตรา 367 ... “ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท”
มาตรา 368 วรรคหนึ่ง ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 368 วรรคสอง ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 369 ... “ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”
มาตรา 370 ... “ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท”
มาตรา 371 ... “ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท และให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบอาวุธนั้น”
มาตรา 372 ... “ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”
มาตรา 373 ... “ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”
มาตรา 374 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 375 ... “ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”
มาตรา 376 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 377 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 378 ... “ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”
มาตรา 379 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 380 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 381 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 382 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 383 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 384 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 385 ... “ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”
มาตรา 386 ... “ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”
มาตรา 387 ... “ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”
มาตรา 388 ... “ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”
มาตรา 389 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 390 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 391 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 392 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 394 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 395 ... “ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”
มาตรา 396 ... “ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท”
มาตรา 7 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 393 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และให้ใช้อัตราโทษต่อไปนี้แทน
มาตรา 393 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 397 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 397 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำในที่ สาธารณสถานหรือต่อหน้าธารกำนัลหรือเป็นการกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะ ล่วงเกินทางเพศ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสองเป็นการกระทำโดยอาศัย เหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำอันเนื่องจากความสัมพันธ์ในฐานะที่ เป็นผู้บังคับบัญชา นายจ้าง หรือผู้มีอำนาจเหนือประการอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท”
มาตรา 9 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 398 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2530 และให้ใช้อัตราโทษต่อไปนี้แทน
มาตรา 398 ... “ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในการพิจารณาคดีในปัจจุบันมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “เจ้าพนักงาน” สมควรกำหนดบทนิยามคำว่า “เจ้าพนักงาน” ไว้ให้ชัดเจน นอกจากนั้น ประมวลกฎหมายอาญายังมิได้กำหนดความผิดเกี่ยวกับศพ ได้แก่ การกระทำชำเราศพ การกระทำอนาจารแก่ศพ การกระทำให้ศพเสียหาย และการดูหมิ่นเหยียดหยามศพอันเป็นการละเมิดต่อสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ และชื่อเสียง สมควรให้มีบทบัญญัติความผิดดังกล่าวประกอบกับมาตรา 397 แห่งประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติเฉพาะกรณีกระทำการอันเป็นการรังแก ข่มเหง หรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณสถานหรือต่อหน้า ธารกำนัล ซึ่งยังไม่ครอบคลุมการกระทำในที่รโหฐาน การคุกคาม การกระทำอันมีลักษณะส่อไปในทางที่จะล่วงเกินทางเพศ และการกระทำโดยอาศัยเหตุที่ผู้กระทำมีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ สมควรกำหนดให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดเพื่อคุ้มครองสิทธิของบุคคลในความ เป็นอยู่ส่วนตัวด้วย อีกทั้งอัตราโทษปรับสำหรับความผิดลหุโทษยังไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและ สังคมของประเทศ สมควรปรับปรุงอัตราโทษปรับให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ปริยานุช/ผู้จัดทำ
16 กุมภาพันธ์ 2558
นุสรา/ผู้ตรวจ
17 กุมภาพันธ์ 2558
[1] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132/ตอนที่ 10 ก/หน้า 43/13 กุมภาพันธ์ 2558