"หนี้" คำนี้ยังเป็นคำแสลงใจอยู่ทุกยุคทุกสมัย บางคนเพิ่งเริ่มต้นคบหากับหนี้ บางคนใช้ชีวิตอยู่กับหนี้มาได้ระยะหนึ่งแล้ว บางคนอยู่กับหนี้มาเกือบทั้งชีวิต
ถึงจะประกาศเสียงดังฟังชัดว่าจะกำจัดหนี้ออกจากชีวิตแล้ว แต่ทำอีท่าไหนก็ไปไม่พ้นชีวิตสักที..ลองมาฟังคำแนะนำจาก 10 กูรูการเงิน ที่ Fundamentals ฉบับนี้รวบรวมวิธีการดีท็อกซ์หนี้ออกจากชีวิต แล้วลองนำไปปรับประยุกต์ใช้ดู เผื่อจะผลักไสหนี้ออกจากชีวิตได้ซะที
เริ่มจากจิตใจที่เข้มแข็ง
"ฤดี ปติอารยกุล" ผู้จัดการกองทุนอาวุโส บลจ.แอสเซท พลัส แนะนำคนที่อยากดีท็อกซ์หนี้ออกจากชีวิต ว่าต้องเริ่มต้นที่จิตใจที่เข้มแข็งของคนที่เป็นหนี้ เนื่องจากการจะชำระหนี้สินให้หมดสิ้นนั้น ผู้ที่เป็นหนี้จะต้องมีวินัยทางการเงินที่เข้มงวดและชัดเจน อีกทั้งต้องใช้ความอดทนในการปรับเปลี่ยนแผนการดำรงชีวิตใหม่เพื่อปลดภาระหนี้ ซึ่งเริ่มต้นง่ายๆ..โดยการทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำเดือน และ ประจำปี รวมทั้ง บัญชียอดรวมหนี้สินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมด เพื่อให้เห็นตัวเลขหนี้สินที่ชัดเจนและเห็นเป็นรูปธรรม พยายามค้นหาข้อมูลทางการเงินใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งอาจใช้เป็นวิธีการรีไฟแนนซ์ยอดหนี้เดิม เพื่อเป็นลดภาระทางด้านดอกเบี้ย โดยพยายามค้นหาแหล่งเงินทุนที่มีดอกเบี้ยต่ำ จากนั้นจัดลำดับการใช้หนี้ โดยเลือกชำระหนี้ที่ มีภาระดอกเบี้ยสูงเป็นอันดับต้นๆ และสุดท้าย คือ ต้องพยายามหารายได้เพิ่มจากการประกอบอาชีพเสริม รวมทั้งเรียนรู้การลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างรายได้
ปรับใจตัวเอง "ห้าม" คิดว่า "ทำไม่ได้"
"เสกสรร โตวิวัฒน์" ผู้อำนวยการกลุ่มกลยุทธ์องค์กร บลจ.บัวหลวง มองว่าการจัดการหนี้สิน สิ่งแรก คือการปรับใจตนเอง "ห้าม" คิดว่า "ทำไม่ได้" แม้ว่าจะยังนึกไม่ออกเลยว่าจะปลดหนี้ได้ยังไง กำลังใจสำคัญที่สุด โดยเฉพาะกำลังใจจากหัวใจของตนเองและครอบครัว เริ่มต้นด้วยการทำบัญชีหนี้สินพร้อมรายละเอียดทั้งหมด ทรัพย์สิน รวมถึงรายรับรายจ่ายแต่ละเดือนว่ามีอะไรบ้าง เพื่อประเมินสถานะภาพการเป็นหนี้ และกำลังการจ่ายให้ได้เสียก่อน ต่อมา ก็ต้องจัดลำดับหนี้สินที่สร้างปัญหาให้มากที่สุด เช่น เกินกำหนดชำระแล้ว เสียดอกเบี้ยอัตราสูง หนี้สินที่ทบต้นตลอดเวลา หรือมีเจ้าหนี้เงินกู้คอยทวงเช้าทวงเย็น จัดเป็นเป้าหมายลำดับแรกที่ต้องจัดการ และดำเนินการ ก่อหนี้เพื่อลดหนี้ โดยเลือกก่อหนี้ใหม่ เพื่อนำมาลดหนี้ที่สร้างปัญหาเฉพาะหน้า เช่นเปลี่ยนหนี้นอกระบบเข้ามาเป็นหนี้ในระบบ เปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตที่มีอัตราดอกเบี้ยจ่ายแท้จริงสูง มายังบัตรเครดิตอื่นที่อัตราจ่ายต่ำกว่า จากนั้นขอให้หาทาง เจรจาเจ้าหนี้ หนี้สินหลายอย่างโดยเฉพาะหนี้ในระบบ พอที่จะเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อยืดระยะเวลาการชำระให้นานออกไป เพื่อแก้ปัญหาเรื่องกระแสเงินสดในการจ่ายหนี้ต่อเดือน
สุดท้าย นั่นคือ เปลี่ยนทรัพย์สินเป็นเงิน เงินทองเป็นของนอกกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้ คนเป็นหนี้หลายคนไม่คาดคิดว่าทรัพย์สินในบ้านที่เห็นอยู่ทุกวัน ก็สามารถแปรสภาพเป็นเงินเพื่อมาชำระหนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อถึงเวลานั้น ขอให้นึกเสียว่า ทรัพย์สินที่อยากเก็บไว้เป็นความสุขทางใจ แต่การลดหนี้ได้ก็ปลดทุกข์สร้างสุขในใจขึ้นมาได้เช่นกัน.."หนี้ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากรู้จักก่อและรู้จักจ่ายในระดับที่เหมาะสม ทั้งยังช่วยให้การบริหารเงินเกิดประโยชน์สูงสุดได้"
คิดกำจัดหนี้ต้องหยุดสร้างหนี้เพิ่ม
"พจณี คงคาลัย" SVP บริหารความสัมพันธ์และการขาย สายลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงเทพ บอกว่า อันดับแรกต้องหยุดก่อหนี้เพิ่มอย่างเด็ดขาด ต้องสัญญากับตัวเองว่าจะไม่ก่อหนี้เพิ่ม สำรวจภาระหนี้สินทั้งหมด ว่ามีประเภทใดบ้าง ทำตารางแจกแจงรายละเอียดให้ชัดเจน หนี้ ธนาคาร นอนแบงก์ หนี้นอกระบบ ยอดหนี้ อัตราดอกเบี้ย ยอดการผ่อนชำระเรียงจากดอกเบี้ยสูงไปต่ำ เพื่อจะได้จัดการชำระก่อนหลังได้ถูกต้อง ถ้าสามารถทำได้ให้โอนหนี้นอกระบบ เข้าอยู่ในระบบเพื่อลดภาระเรื่องดอกเบี้ย
จากนั้น เจรจากับเจ้าหนี้ขอแฮร์คัต ขอลดดอกเบี้ย ลดยอดผ่อนชำระ ฯลฯ พร้อมจัดทำแผนการชำระหนี้กับเจ้าหนี้ และชำระหนี้อย่างมีวินัย ลดรายจ่ายที่จำเป็นให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เลิกรายจ่ายที่ไม่จำเป็นทุกชนิด เพื่อให้เหลือเงินมาชำระหนี้ให้มากที่สุด และเมื่อได้เงินก้อนใหญ่ เช่นโบนัสหรือ เงินตกเบิกต่างๆ ให้รีบนำไปชำระหนี้ให้มากที่สุด
หยุดเป็นทาสเงิน-สร้างรากแก้วแห่งสุข
"ดร.สมจินต์ ศรไพศาล" นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กรรมการผู้จัดการ บลจ.ทหารไทย เชื่อว่ารากเหง้าของหนี้สิน เกิดจากความเป็น "ทาสของเงิน" ความเป็นทาสของเงิน ดูได้จาก การที่เราโหยหาเงินตลอดเวลา เมื่อได้เงินมาแล้ว ก็ร้อนรุ่มอยากออกไปใช้จ่ายเงิน เพื่อซื้อของ "ซื้อความสุข" ใช้เงินหมดแล้วก็โหยหาเงินใหม่ บางครั้งแม้ต้องกู้หนี้ยืมสินจ่ายดอกเบี้ยแพงๆ ก็ยอม เป็นอาการเสพติดความสุขจากการใช้เงิน
"วิธี DETOX ที่สำคัญก็คือ การสร้างรากแก้วแห่งความสุขที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อ เมื่อเราได้เริ่มสร้างรากแก้วแห่งสันติสุขที่ลุ่มลึก จากการเรียนรู้และเติบโต ใช้เวลากับครอบครัวที่อบอุ่น ชื่นชมธรรมชาติที่งดงาม ดื่มด่ำกับธรรมะและใกล้ชิดพระเจ้า และที่สำคัญคือได้อิ่มใจกับการแบ่งปันด้วยความรักแล้ว เราย่อมจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตสลัดพิษจากความเป็นทาสของเงิน มาสู่ความเป็นไท และไปสู่เสรีภาพที่แท้จริงเป็นนายของเงินได้ในไม่ช้า"
กำหนดวันล้างหนี้ที่แน่นอนในปฏิทิน
"ดร.พิมพ์เพ็ญ ลัดพลี" ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาตลาดตราสารหนี้รัฐบาล สำนักพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มองว่าการมีหนี้สินพะรุงพะรังนานหลายปี เป็นบ่อเกิดของการ "จมปลัก" อยู่ในวงจรอุบาทว์ ยิ่งนานวันยิ่งหลุดพ้นได้ยาก สำหรับหนี้ที่เกิดจากความฟุ่มเฟือย เช่น หนี้บัตรเครดิตและหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีวงเงินไม่สูงมากแต่มีอัตราดอกเบี้ยสูง วิธีการดีท็อกซ์ คือ หยุดก่อหนี้เพิ่มและทยอยผ่อนชำระในวงเงินที่สูงขึ้น โดยต้องกำหนดวันล้างหนี้ที่แน่นอนในปฏิทินไว้เตือนความจำเสมอ เพราะหนี้ที่เกิดจากความฟุ่มเฟือยมักมาจากการไม่วางแผนการใช้จ่าย การไม่ใช้เงินสด และการไม่ทำบัญชีรายรับรายจ่าย นั่นเอง..
แต่สำหรับหนี้ที่เกิดจากการลงทุนเกินกำลัง เช่น หนี้ที่เกิดจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือการลงทุนในธุรกิจเพื่อเก็งกำไร ซึ่งแม้อาจเป็นหนี้ดีแต่มักเป็นหนี้ที่ มีวงเงินสูงและมีการผ่อนชำระในระยะยาว ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไป เงื่อนไขของสินเชื่อประเภทนี้อาจไม่เหมาะสมกับฐานะการเงินและกระแสรายได้ใน ปัจจุบันก็เป็นได้ ซึ่งวิธีการดีท็อกซ์ คือ การปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ว่าจะเป็นการชำระคืนเงินต้นบางส่วน การขอปรับอัตราดอกเบี้ยในฐานะลูกค้าชั้นดี
ใช้กลยุทธ์ "ลดต้น ลดดอก"
"โชติกา สวนานนท์" กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ เห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า "การไม่มีหนี้ เป็นลาภอันประเสริฐ" โดยกลยุทธ์ที่จะแนะนำสำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่กับหนี้มาหลายปีแล้วอยากจะขจัดหนี้ออกไปจากชีวิต หลักการง่ายๆ คือ "ลดต้น ลดดอก" ของหนี้ที่มีให้เร็วที่สุด เพราะดอกเบี้ยจะทำให้หนี้พอกพูน ควรนำเงินที่หามาได้จากการทำงานไปลงทุนเพื่อใช้หนี้ โดยต้องกล้าเสี่ยงให้มากขึ้นกว่าเดิม กระจายพอร์ตการลงทุนไปสินทรัพย์เสี่ยงบ้าง ต้องตั้งเป้าหมายไว้ว่าเมื่อได้กำไรเท่าไหร่จะ take profit และจะต้องนำเงินไปชำระหนี้ทันที กำจัดหนี้ออกไปจากชีวิตให้เร็วที่สุด..ดังนั้นข้อควรปฏิบัติง่ายๆ คือ 1. อย่าทำงานใช้หนี้อย่างเดียว ควรให้เงินทำงานช่วยเราด้วย 2. อย่านำเงินไปลงทุนในตลาดตราสารหนี้เพียงอย่างเดียวเพราะดอกเบี้ยเงินฝากหรือดอกเบี้ยตราสารหนี้มักจะต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้เสมอ
"หยุด..ขาย...ลด..หา"
"บุญชัย เกียรติธนาวิทย์" กรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต แนะว่าถ้าอยากจะปลดหนี้ ให้ออกไปจากชีวิต เร็วๆ อย่างแรก "หยุด" ก่อหนี้ใหม่ก่อน ไม่มีหนี้ใหม่ ก็จะมีภาระแค่เคลียร์หนี้เก่าให้หมดไปตามกำลังที่มีอยู่ในปัจจุบัน จากนั้น "ขาย ขาย และขาย" คือ ขายทรัพย์สินเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด เอาไปใช้หรือลดหนี้ ต้องคิดเสียว่า ไม่ตายก็หาใหม่ได้ หรือมีของเท่าที่จำเป็นเท่านั้นก็พอ อันนี้ไปพิจารณากันเองว่า พอของแต่ละคนเป็นอย่างไร แต่อยากให้คิดว่า ขายเพื่อลดภาระหนี้ เป็นหลักก่อนความพอของตัวเอง..ถัดมาคือ "ลด..ลด..ลด" คือ ลดค่าใช้จ่ายที่ใช้ประจำวันลงได้อีกไหม อันนี้ อาจถึงขั้นต้องเปลี่ยนพฤติกรรมความเป็นอยู่เลยก็ว่าได้ ทั้งนี้ เพื่อลดรายจ่าย เอาเงินมาโปะใช้หนี้กัน เสร็จแล้วก็ "หา..หา..หา" คือ หาทางที่จะเพิ่มรายได้ของตัวเอง อันนี้ ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของตัวเองง่ายสุดก็คือ ทำงานพิเศษอะไรที่เกี่ยวกับหรือใกล้เคียงกับความชำนาญของตัวเองหรืองานที่ ตัวเองทำอยู่ ซึ่งน่าจะมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด
เปลี่ยนความคิด-ตั้งสมการใหม่
"นริศ อจละนันท์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต แนะวิธีดีท็อกซ์หนี้ออก จากชีวิตว่า ต้องเปลี่ยนความคิด ตั้งสมการใหม่ "รายได้ - เงินออม = รายจ่าย" เมื่อมีรายได้ หักเงินส่วนที่จะเก็บออมไว้เลย ที่เหลือค่อยใช้จ่าย วิธีนี้จะทำให้เรามีเงินเก็บออมได้ในระยะยาว รวมถึงไม่เกิดหนี้สิน ที่ไม่จำเป็น ในเวลาเดียวกันต้องกำหนดแผนค่าใช้จ่าย โดยจะต้องใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล ตามความจำเป็น แยกแยะให้ได้ระหว่าง "อยากได้ หรือ จำเป็น" ซึ่งจะทำให้เราสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้
ขณะเดียวกัน จ่ายบัตรเครดิตเต็มจำนวน เคร่งครัดต่อหนี้สิน และต้องไม่ลืมทำสมุดรายรับรายจ่าย จดค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ละเอียด เพื่อให้รู้สถานการณ์ทางด้านการเงินของเรา ขณะเดียวกันต้อง ทบทวนค่าใช้จ่ายสม่ำเสมอ เพื่อให้รู้ว่าเราได้จ่ายอะไรไปบ้าง สุดท้ายทำประกันคุ้มครองหนี้สิน เพราะเราคงไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามเราสามารถมั่นใจได้ว่า ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ คนที่เรารักจะสามารถอยู่ได้เป็นปกติ โดยไม่มีภาระหนี้สิน
วางแผนใช้จ่ายเงินอย่างมีวินัย
"พวรรณ์ นววัฒนทรัพย์" รองประธานกรรมการ บริษัท วายแอลจี บริษัท บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล เห็นว่าคนที่มีหนี้ต้องกลับ มาเริ่มวางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างมีวินัยและเป็นสเต็ป เริ่มจากการวิเคราะห์รายได้ในแต่ละเดือน ว่ามาจากส่วนใดบ้าง เพื่อให้ทราบถึงรายได้ที่ชัดเจน ขณะเดียวกันต้องสำรวจค่าใช้จ่ายทั้งหมดเพื่อแยกออกเป็น Need กับ Want และคำนึงถึงส่วนที่จำเป็นก่อน พอเราพูดถึง ความจำเป็น กับ ความต้องการ เราต้องกลับมาพิจารณาอีกว่าในส่วนที่เป็น ความจำเป็น สำหรับเรานั้นในเรื่องใดสำคัญกว่ากัน ส่วนไหนจำเป็นที่สุด ส่วนไหนรอได้
"คนมีหนี้ต้องพยายามจัดความคิดให้มีมองมุมเชิงบวก เพราะจะได้มีกำลังใจที่ดีและแข็งแรง พร้อมสำหรับการแก้ไขปัญหา"
ขจัดพิษจากหนี้ด้วยวิธี "คิดบวก".."อำพล โพธิ์โลหะกุล" ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย แนะว่า จะขจัดพิษหนี้ต้องเริ่มจาก "คิดบวก" เป็นพื้นฐาน หมายถึงคิดให้ถูกทางว่า หนี้จะหมดไปได้ก็ด้วยการจัดสรรรายรับมาชำระหนี้อย่างมีวินัย โดยไม่พยายามหาทางปิดหนี้ก้อนหนึ่งแต่กลับไปก่อหนี้เพิ่ม ทั้งหนี้นอกระบบและการใช้บัตรเครดิตใบหนึ่งมาจ่ายหนี้ของอีกใบ ซึ่งล้วนแล้วแต่จะทำให้เราตกอยู่ในวังวนหนี้สินแบบไม่สิ้นสุด เว้นเสียแต่ว่าการก่อหนี้ใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมนั้นจะมีภาระดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าหนี้เก่า ในกรณีที่การผ่อนชำระเริ่มเป็นปัญหาหนักขึ้นอาจต้องพิจารณาโยกย้ายหนี้มาสู่แหล่งเงินกู้ที่ช่วยลดภาระดอกเบี้ยลง ลองเจรจาขอปรับโครงสร้างหนี้เพื่อหาวิธีการผ่อนชำระที่สามารถจะทำได้ รวมถึงหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการชำระหนี้ของตนเอง ซึ่งอาจหมายถึงการหารายได้พิเศษเพิ่มหรือลดรายจ่ายในแต่ละเดือนลง
คำถามที่น่าสนใจกว่าคือ "ทำอย่างไรถึงจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างพอเพียง มีความสุข และไม่ต้องเป็นหนี้" ซึ่งถือว่าเป็นอีก "วิธีคิดบวก" ที่จะช่วยเพิ่มภูมิต้านทานภาวะหนี้และ เพิ่มความมั่นคงทางการเงิน โดยต้องมีวินัยในการบริหารรายจ่ายให้ไม่เกินไปกว่ารายรับ รู้จักแบ่งสรรรายรับเป็นส่วนๆ และต้องไม่ลืมจัดสรรเงินไว้ออมก่อนใช้จ่ายเสมอ
ที่มา..กรุงเทพธุรกิจ /การเงิน - การลงทุน : การเงินส่วนบุคคล