พระของชาวบ้าน ผู้นำของศาสนา...

เขียนโดย 

ชาวอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี หากเป็นผู้เฒ่าผู้แก่แล้ว น้อยคนจะไม่รู้จัก “หลวงพ่อวัดบ้านกร่าง” หรือพระเมธีธรรมสาร (ไสว ธัมมสาโร) อดีตเจ้าอาวาสอำเภอศรีประจันต์ ซึ่งมรณภาพนานกว่า ๓๐ ปีแล้ว
 
 
ท่านเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านแม้จนทุกวันนี้ ไม่ใช่เพราะวัตถุมงคลหรือเครื่องรางของขวัญ (ซึ่งท่านทำอยู่บ้างแต่น้อยมาก) หากเป็นเพราะศีลาจารวัตรของท่านนั้นน่าเลื่อมใส นอกจากมีความเที่ยงธรรมและมั่นคงในพระธรรมวินัยแล้ว ท่านยังมีความเสียสละอุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของชาวบ้านและเพื่อความเจริญงอกงามของพระศาสนา
 
ในยุคของท่านมีการสร้างสาธารณูปการมากมาย โดยเฉพาะด้านการศึกษาทั้งสำหรับเยาวชนและพระสงฆ์ แต่ที่ประทับใจคนไม่น้อยก็คือปฏิปทาของท่านซึ่งมุ่งความถูกต้องเป็นที่ตั้ง โดยไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน อีกทั้งไม่เกรงกลัวอิทธิพลใด ๆ
 
มีนายอำเภอศรีประจันต์คนหนึ่งเป็นคอสุรา ชอบตั้งวงกินเหล้าในสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในพื้นที่วัดเป็นประจำ เท่านั้นไม่พอยังร้องรำทำเพลงส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น ท่านเห็นว่าเขาคงไม่เลิกง่าย ๆ จึงเข้าไปเอ็ดว่า ในเขตวัดห้ามคนมากินเหล้าส่งเสียงอึกทึก นายอำเภอควรเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ประชาชน นับจากวันนั้นนายอำเภอผู้นั้นก็ไม่กล้าไปกินเหล้าส่งเสียงเฮฮาในเขตวัดอีก ท่านเล่าภายหลังว่า ถ้าเตือนแล้วไม่ฟัง ท่านจะเอาเรื่องให้ถึงกรมการปกครอง
 
คราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์เป็นกรรมการสร้างอนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจัน มีผู้แทนจากกรมศิลปากรนำหุ่นจำลองอนุสาวรีย์เสนอต่อที่ประชุม มีหุ่นพระอาจารย์ธรรมโชติยืนอยู่กลางหมู่วีรชนคนอื่น ๆ เมื่อประธานถามความเห็น กรรมการทุกคนก็เห็นด้วย แต่ท่านนิ่งอยู่ ไม่ออกความเห็นสนับสนุน ประธานจึงถามว่า “ทำไมหลวงพ่อไม่ออกความเห็นเลยครับ”
 
ท่านชี้แจงว่า “ถ้าให้อาตมาออกความเห็น ก็จะเป็นการคัดค้านความเห็นชอบของทุกคน” แล้วท่านก็อธิบายว่า ตามพระวินัย พระไปดูหรือไปในกระบวนทัพไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็น แต่ก็อยู่ได้ไม่เกินสามวัน ระหว่างที่อยู่ในกองทัพตามกำหนดนั้น ถ้าไปดูเขารบกันก็ดี ดูเขาตรวจพลก็ดี ดูเขาจัดกระบวนทัพก็ดี หรือดูหมู่เสนาที่จัดเป็นกระบวนแล้วก็ดี ต้องอาบัติปาจิตตีย์ จึงไม่ควรมีรูปพระอาจารย์ธรรมโชติอยู่ในหมู่นักรบชาวบ้านบางระจัน อีกทั้งตามประวัติท่านก็ไม่ได้ออกไปกับกองทัพ เพียงแต่รับนิมนต์มาอยู่ที่วัดโพธิ์เก้าต้น แจกผ้ายันต์ รดน้ำมนต์ให้เป็นขวัญและกำลังใจจเท่านั้น
 
ท่านจึงเสนอว่าอนุสรณ์ของพระอาจารย์ธรรมโชติจึงควรแยกไปอยู่ที่วัด จึงจะถูกต้องตามพระวินัย และไม่เสียหายแก่พระศาสนาและตัวพระอาจารย์ธรรมโชติเองด้วย กรรมการทุกคนฟังแล้วก็เห็นด้วยกับท่าน ด้วยเหตุนี้อนุสาวรีย์ชาวบ้านบางระจันจึงไม่มีหุ่นพระอาจารย์ธรรมโชติอยู่ด้วย
 
ในด้านวัตรปฏิบัติส่วนตัว ท่านก็ถือเคร่งครัด อาทิ ไม่เอาของสงฆ์มาเป็นของส่วนตัว มีการแยกแยะอย่างเด็ดขาด แม้บางเรื่องดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาของคนทั่วไป..อาจารย์ผู้หนึ่งเล่าว่าเคยบวชเรียนอยู่กับท่าน ท่านจึงเอาปิ่นโตที่เป็นของสงฆ์มาให้ยืมใช้ เมื่อใกล้วันลาสิกขา ท่านสั่งว่า พรุ่งนี้พอฉันเช้าเสร็จ ก่อนลาสิกขา ให้เอาปิ่นโตมาคืน เพราะเป็นของสงฆ์ ไม่ใช่ของ ๆ ท่าน
 
อาจารย์ท่านนี้ยังเล่าอีกว่า เมื่อลาสิกขาแล้ว ก่อนออกจากวัด ได้ยืมหนังสือที่อยู่ในกุฏิท่านสองเล่ม ท่านหยิบไปดูแล้วบอกว่า “ยืมเอาไปอ่านก็แล้วกัน หลวงตาต้องทบทวนดูก่อนว่าเป็นหนังสือของวัดหรือของหลวงตาเอง”..ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น ท่านเขียนหนังสือให้ลูกศิษย์ถือมาให้อาจารย์ท่านนี้ว่า “หนังสือสองเล่มนั้น หลวงตาตรวจสอบดูแล้ว ไม่ใช่เป็นของวัด เป็นหนังสือของหลวงตาเอง ฉะนั้นไม่ต้องเอามาคืน หลวงตาให้เลย”
 
ในส่วนที่เป็นเงินของวัดนั้น ท่านละเอียดลออมาก ไม่ยอมให้ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เช่น ห้ามเปิดไฟหรือน้ำทิ้งไว้ นอกจากกำชับพระเณรแล้ว ท่านยังออกตรวจตราอยู่เสมอ ใครไม่ปฏิบัติตามจะถูกท่านดุ..
 
ท่านย้ำนักหนาว่า วัดอยู่ด้วยเงินที่ชาวบ้านถวาย ชาวบ้านทำงานเหนื่อยยาก พระจะเอาเงินชาวบ้านมาใช้ฟุ่มเฟือยไม่ได้ แต่จะต้องประหยัดยิ่งกว่าชาวบ้าน ไม่ควรมีความเป็นอยู่ฟุ้งเฟ้อหรูหรากว่าชาวบ้าน
 
ด้วยปฏิปทาดังกล่าว ท่านจึงเป็นที่ศรัทธาของชาวบ้าน และสามารถชักชวนชาวบ้านมาร่วมแรงร่วมใจพัฒนาชุมชนครั้งแล้วครั้งเล่าจนเจริญก้าวหน้า ดังปรากฏให้เห็นกระทั่งทุกวันนี้

.........
เรื่องเล่าเช้าวันพระ : พระของชาวบ้าน ผู้นำของศาสนา
หลวงพ่อวัดบ้านกร่าง ๕ กันยายาน ๒๕๕๔ พระไพศาล วิสาโล
ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ วัน, วันที่ เดือน ปี ชม:นาที