"วัดเขาถ้ำเสือ" พุทธสถานศักดิ์สิทธิ์ ถิ่นกำเนิดกรุ "พระถ้ำเสือ" หนึ่งในพระเครื่องชื่อก้องของเมืองไทย ที่ทางวัดได้ทำพระพุทธรูปถ้ำเสือ (จำลอง) องค์โตสีทองไว้ให้พุทธศาสนิกชนสักการบูชา ซึ่งเชื่อว่าการไหว้พระถ้ำเสือ จะมีบุญบารมี มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ผู้คนเคารพนับถือ ชีวิตรุ่งโรจน์
ดินแดนแห่งนี้ มิใช่สถานที่ทางพระพุทธศาสนาของชาวบ้านจระเข้สามพัน หรือชาวพุทธโดยทั่วไปเท่านั้นแต่เป็นแอ่งโบราณสถาน อู่ประวัติศาสตร์ของชาวสุวรรณภูมิ ในอดีตที่เราทุกคนควรเข้าไปสัมผัสรูปเงาของสิ่งทั้งหลายทั้งปวง อิฐ ศิลาแลงกองระเกะระกะ ซึมซับบรรยากาศของวันเก่าๆ
ภูมิประเทศของวัดเขาถ้ำเสือเป็นแนวเทือกเขาเชื่อมกันหลายลูกที่พาดตัวอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเขตอำเภออู่ทอง แม้จะไม่ใช่เทือกเขาใหญ่โตโอฬาร แต่ก็มีลักษณะสลับซับซ้อนไปด้วยเพิงผาหน้าถ้ำ โตรกธารร่องน้ำในอดีต และร่องรอยกิจกรรมมนุษย์หลายยุคหลายสมัยเป็นสายโซ่สืบทอดกันมา ชาวบ้านเรียกบริเวณนั้นว่า "เขาคอก" เนื่องจากพบโบราณสถานคอกช้างดินและซากอาคาร ฐานพลับพลา ฐานเจดีย์เมื่อสมัยพันปีก่อน รวมทั้งสันเขื่อนโบราณหรือ "ถนนท้าวอู่ทอง" ตามคำกล่าวของชาวบ้าน
ชาวบ้านจระเข้สามพันนับถือกันว่าวัดเขาถ้ำเสือเป็น "วัดป่าอรัญวาสี" สถานที่ห่างไกลจากชุมชนที่มีบรรยากาศเงียบสงบเหมาะสำหรับปฏิบัติธรรมของพระ ภิกษุสงฆ์และฆราวาส นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าวัดเขาถ้ำเสือและบริเวณโดยรอบนั้นเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ลึกลับและแรงอาถรรพ์ที่ทุกคนต้องเคารพยำเกรง ชาวบ้านได้ช่วยกันดูแล ทำนุ บำรุงสถานที่สำคัญแห่งนี้ไว้ด้วยแรงกายใจอันเปี่ยมศรัทธา จนกระทั่งได้รับการยกฐานะจากสำนักสงฆ์ขึ้นเป็นวัดที่ถูกต้องตามบทบัญญัติของ สงฆ์ดังปรากฏในปัจจุบัน
พระถ้ำเสือ เป็นพระพิมพ์เนื้อดินที่ไม่ได้เผาหรือเรียกว่า "พระเนื้อดินดิบ" ส่วนใหญ่จะพบตามถ้ำในภูเขาลูกย่อม ๆ ซึ่งอยู่ในเขตอำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรีในปัจจุบัน ที่ได้ชื่อว่าพระถ้ำเสือก็เพราะว่า ชาวบ้านไปพบครั้งแรกตอนที่ไปหามูลค้างคาวในถ้ำบนภูเขาชื่อเขาคอก ซึ่งเป็นภูเขาลูกหนึ่งที่เรียงตัวกันเป็นพืดอยู่ทางตะวันตกของอำเภออู่ทอง ถ้ำที่พบพระนี้เคยเป็นที่อยู่ของเสือมาก่อน จึงเป็นที่มาพากันเรียกพระที่พบว่า "พระถ้ำเสือ" ขุดพบเมื่อประมาณปี พ.ศ.2487 ต่อมาได้มีการพบพระพิมพ์ลักษณะเดียวกันนี้เรื่อยมา ตามถ้ำต่างๆบนภูเขาที่ ติดต่อกันเป็นเทือก จากทิศใต้ของอำเภออู่ทองขึ้นไปทางทิศเหนือ ภายหลังได้มีสำนักสงฆ์มาตั้งและ ได้พัฒนาเป็นวัดเขาถ้ำเสือในปัจจุบัน
พระถ้ำเสือเป็นพิมพ์ขนาดเล็ก ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยทวาราวดีตอนต้น หรือก่อนสมัยทวาราวดี ประมาณ1,200ปี ถึง 1,800ปีมาแล้ว โดยชุมชนบ้านเมืองในสมัยนั้น นับถือทั้งศาสนาพุทธแบบ มหายาน และฮินดูปะปนกัน
ผู้ที่สร้างพระถ้ำ เสือคือนักบวชหรือพระฤาษีผู้ทรงศีล สร้างขึ้นมาเพื่อต้องการให้เป็นรูปเคารพเพื่อเสริมสร้างบารมี ให้แก่กษัตริย์หรือผู้นำในโอกาสอันควร โดยมีพิธีกรรมต่างๆ และขอบารมีจากพระโพธิสัตว์ทั้งหลายที่เคารพบูชาทั้งพระพุทธเจ้า ยักษ์ เทวดา ฤาษี ให้มาสถิตย์ในรูปเคารพที่สร้างขึ้น แล้วนำไปเก็บไว้ในถ้ำน้อยใหญ่ต่างๆ ให้ผู้ที่ได้พบในภายภาคหน้านำไปสักการะบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล และอาจรวมไปถึงต้องการให้เป็นผลบุญเพิ่มพูนบารมีแก่ผู้สร้างด้วย
เส้นทางไปวัดเขาถ้ำเสือ ที่แยกจากถนนมาลัยแมนคือเส้นทางเดียวกับที่ไปวนอุทยานพุม่วง-โบราณสถานคอกช้างดิน ห่างจากสามแยกบ่อพลอยประมาณ 300 เมตร เลี้ยวขวาไปตามถนนคอนกรีต พอถึงทางโค้งแล้วเลี้ยวซ้ายก็จะเป็นทางขึ้นวัดเขาถ้ำเสือ ถนน ค่อย ๆ ยกตัวสูงไปทางด้านทิศตะวันตกแล้ววาดโค้งพุ่งขึ้นทางด้านทิศเหนือด้วยความลาด ชันพอให้ตื่นตกใจเล็กน้อย ลานวัดขนาบแน่นด้วยลักษณะของธรรมชาติ โดยมีภูเขาตั้งเป็นกำแพงอยู่ทางด้านทิศตะวันตก กิ่งแมกไม้ปกคลุมทั่วอาณาบริเวณที่เรียกว่าอาวาสอันเป็นที่พำนักของผู้เอาชนะตน ใบไม้สีเขียวระบัดพัดพลิ้วอยู่เบื้องบน ส่วนด้านล่างเกลื่อนกร่นด้วยใบไม้แห้งกองพับถมกัน
โดยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขาขนาดย่อม นอกจากโถงถ้ำการเปรียญที่เรียกว่า "ถ้ำเสือ" แล้ว ยังมีถ้ำเล็ก ถ้ำน้อยเป็นองค์บริวารกระจายกันอยู่ในตำแหน่งไม่ห่างกันนัก เหมาะสำหรับสร้างความอบอุ่นให้กับร่างกายและจิตใจ จึงน่าจะเป็นทั้งนิวาสสถาน และเทวสถานของกลุ่มคนชั้นสูงในอดีต