"พระพุทธเทวปฏิมากร" อันหมายถึง เทวดามาสร้างไว้เนื่องด้วยเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามเป็นอย่างยิ่งสมกับชื่อ
ที่ใต้ฐานชุกชีพระแท่นประดิษฐานพระพุทธเทวปฏิมากรพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ก่อไว้ ๓ ชั้นนั้นในชั้นที่ ๑ ได้บรรจุพระบรมอัฐิ (บางส่วน) และพระบรมราชสรีรางคารของบุรพกษัตริย์รัชกาลที่ ๑ ไว้ด้วย.."พระพุทธเทวปฏิมากร" พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปโบราณ ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๕ ศอกคืบ ๔ นิ้ว
มีหลักฐานปรากฏใน 'จารึกวัดโพธิ์' ไว้ว่าเดิมพระพุทธเทวปฏิมากรประดิษฐานอยู่ ณ วัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์)เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสร้างวัดโพธารามให้เป็นวัดใหญ่สำหรับพระนคร และได้ทรงขนานนามใหม่ว่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม พระองค์ได้ทรงเลือกหาพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงามสมควรเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัดจึงได้พบและเลือกพระพุทธรูปองค์นี้จากวัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์) ดังกล่าว ครั้งนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถถวายพระนามว่า "พระพุทธเทวปฏิมากร"
ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระอุโบสถเก่า ซึ่งสร้างไว้ตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ ลงทั้งสิ้น แล้วทรงสร้างขึ้นใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเก่า ส่วนฐานพระพุทธเทวปฏิมากรนั้นรื้อของเก่าทำขึ้นใหม่ขยายเป็น ๓ ชั้น พระสาวกเดิมมี ๒ องค์ ทรงสร้างขึ้นใหม่อีก ๘ องค์ รวมเป็นพระสาวก ๑๐ องค์ ดังที่ปรากฏอยู่จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ มีพระราชดำริถึงพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลนั้นได้รับพระราชทานไปกระทำสักการบูชา
เมื่อเจ้านายพระองค์นั้นๆ สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ไม่มีใครพิทักษ์รักษาได้เชิญมาเป็นของหลวง มีอยู่ควรจะประดิษฐานไว้ให้มหาชน ได้กระทำสักการบูชาโดยสะดวก จึงโปรดเกล้าฯ ให้บรรจุพระบรมอัฐิ ในกล่องศิลา แล้วเชิญมาบรรจุไว้ในพุทธอาศน์พระพุทธเทวปฏิมากรและยังมีคำที่เล่าสืบกันมาว่าถึงพระอุณาโลมพระพุทธเทวปฏิมากรนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้โปรดให้สร้างถวายในครั้งนั้นด้วย
อนึ่ง พระพุทธเทวปฏิมากรพระองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเคารพนับถือว่าเป็นเจดีย์สถานสำคัญแห่งหนึ่งมาช้านานแล้วเพราะปรากฏในจดหมายเหตุว่า เมื่อได้ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเสร็จแล้วได้เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยสถลมารคเมื่อ ณ วันอังคาร เดือน ๖ แรม ๕ ค่ำ ปีกุน พุทธศักราช ๒๓๗๙
ครั้งนั้น จึงได้เสด็จประทับพระอุโบสถทรงกระทำสักการบูชาพระพุทธเทวปฏิมากรเป็นปฐม เรื่องนี้เลยเป็นพระราชประเพณีตั้งแต่นั้นสืบมาคือ เมื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยสถลมารคนั้น
ย่อมเสด็จประทับ ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามทรงกระทำสักการบูชาพระพุทธเทวปฏิมากรสืบมาทุกรัชกาล
ที่มา..บ้านมหา ดอทคอม