วัดสนามชัย อยู่หมู่ที่ 5 ตำบลสนามชัย ริมทางหลวงหมายเลข 340 ห่างจากจังหวัดประมาณ 2 กิโลเมตร อ.เมืองสุพรรณบุรี จ.สุพรรณบุรี เป็นวัดเก่าแก่คู่เมืองสุพรรณ ตั้งอยู่นอกเมืองโบราณทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณบุรี เป็นวัดร้างมีเพียงซากเจดย์ปรักหักพังและโบราณวัตถุต่างๆ ที่หาชมได้ยากแล้ว ต่อจากนั้นไม่นานหลังจากได้มีการขุดพบโบราณสถานเหล่านี้แล้ว ทางกรมศิลปากรได้ทำการบูรณะซ่อมแซมอย่างที่เห็นในปัจจุบัน สร้างจากอิฐที่มีความคงทนถาวรด้วยสถาปัตยกรรมที่แปลกตา...
วัดสนามชัย ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างที่แน่ชัด มีเพียงความในพงศาวดารเหนือระบุว่า พระเจ้ากาแตโปรดฯ ให้มอญน้อยออกไปสร้างวัดสนามไชยเมื่อคราวที่พระองค์เสด็จมาเสวยราชย์ ณ เมืองพันธุมบุรี เมื่อ พ.ศ.1706 ความว่า..." ขณะนั้นพระเจ้ากาแตเป็นเชื้อมาแต่นเรศร์หงสาวดี ได้มาเสวยราชสมบัติ แล้วมาบูรณะวัดโปรดสัตว์วัดหนึ่ง วัดภูเขาทองวัดหนึ่ง วัดใหญ่วัดหนึ่ง สามวัดนี้แล้วจึงให้มอญน้อยเป็นเชื้อมาแต่พระองค์ออกไปสร้างวัดสนามชัย แล้วมาบูรณะวัดพระป่าเลไลยก์ในวัดลานมะขวิดแขวงเมืองพันธุมบุรี ข้าราชการบูรณะวัดแล้ว ก็ช่วยกันบวชสิ้นสองพันคน จึงขนานนามเมืองใหม่ชื่อว่าเมืองสองพันบุรี แล้วพระองค์จึงยกนาเป็นส่วนสัดไว้ พระองค์อยู่ในราชสมบัติ 40 ปี จึงสวรรคต จุลศักราช 565 ขาลเบญจศก "
ภายในบริเวณวัดมีฐานเจดีย์ทรงสิบหกเหลี่ยมขนาดใหญ่เป็นประธานของวัด ส่วนยอดหักพังหมดแล้ว เหลือเพียงฐานชั้นล่าง เชื่อกันว่าองค์เจดีย์นี้น่าจะเป็นต้นแบบของศิลปกรรมแบบอู่ทองหรือสุพรรณภูมิในช่วงแรกๆ อันเป็นต้นแบบของเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมในระยะต่อมา ภายในองค์เจดีย์กลวงเป็นห้องสี่เหลี่ยม เมื่อปี พ.ศ. 2504-2505 กรมศิลปากรทำการขุดแต่งองค์เจดีย์พบอัฐิธาตุป่นปนอยู่กับเถ้าถ่านเป็นจำนวนมาก บรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ด้านทิศตะวันออก เชื่อกันว่าเป็นอัฐิของทหารที่เสียชีวิตในการทำสงครามกับพม่าบนแผ่นดินเมือง สุพรรณบุรีครั้งกรุงศรีอยุธยา
สำนักงานศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี ได้ทำการขุดตรวจฐานเจดีย์และแนวกำแพงล้อมรอบเจดีย์อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2547-2548 ผลการขุดตรวจสันนิษฐานว่าเจดีย์ประธานวัดสนามไชยนี้น่าจะสร้างขึ้นในราวพุทธ ศตวรรษที่ 20 ในบริเวณที่มีชุมชนอยู่อาศัยค่อนข้างหนาแน่นมาแต่เดิมตั้งแต่เมื่อราวพุทธ ศตวรรษที่ 19 โดยมีระเบียงคตล้อมรอบเจดีย์ประธาน นอกระเบียงคตทางทิศตะวันตกเป็นอุโบสถ ส่วนทางทิศตะวันออกเป็นวิหาร
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดสนามชัย (ร้าง) เป็นโบราณสถานของชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และประกาศระวางแนวเขตในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 98 ตอนที่ 177 วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2524 เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 50.25 ตารางวา และประกาศเพิ่มเติมในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 106 ตอนที่ 140 วันที่ 29 สิงหาคม 2532 เนื้อที่ประมาณ 51 ไร่ 65 ตารางวา
ขอบคุณข้อมูลจาก...กลุ่มวิชาการโบราณคดี สำนักงานศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี