การดูแลสุขภาพกับโรคที่ผู้หญิงควรตรวจ

เขียนโดย 


นอกจากการดูแสุขภาพนอกจากการใส่ใจอาหาร การออกกำลังกาย และการดูแลจิตใจแล้ว การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นการป้องกันโรคอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ป้องกันโรคได้ผลซึ่งทุกคนทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ควรตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่องประมาณปีละ 1 ครั้ง

1. ตรวจเลือด-ตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจสุขภาพทั่วไปตามมาตรฐาน อาทิ เลือด-เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด เพื่อดูว่ามีข้อบ่งชี้ต่างๆ หรือไม่ เช่น วินิจฉัยโรคเลือด เช่น ธาลัสซีเมีย ลิวคีเมีย ช่วยในการหาสาเหตุของภาวะดีซ่าน ช่วยวินิจฉัยโรคตับ เช่น โรคตับอักเสบ ภาวะไตวาย ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคติดเชื้อทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อไวรัส ฯลฯ นอกจากนี้ บางคนยังต้องตรวจเพิ่มกรณีที่มีความเสี่ยง เนื่องจากสภาพแวดล้อม หรือคนในครอบครัวเป็นโรคร้ายแรง

2. ตรวจความผิดปกติของเต้านม ที่สำคัญก็คือการตรวจหา มะเร็งเต้านมนั่นเอง เพราะผู้หญิงไทย และผู้หญิงทั่วโลกเป็นกันมากขึ้น (โดยเฉพาะผู้หญิงเขตเมือง) ทั้งนี้ก็เพราะอาหารในปัจจุบันมีสารเคมี มีฮอร์โมน (Hormone) ในปริมาณสูง เช่น สารเร่งการเจริญเติบโตของหมู ไก่ ฮอร์โมนเหล่านี้เข้าไปกระตุ้นเซลล์ให้เติบโต และถ้าผิดปกติก็จะกลายเป็นมะเร็งได้ ดังนั้น ผู้หญิงที่มีอายุ ตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไปจึงควร ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม (Mammogram) หรืออัลตราซาวด์ (Ultrasound) เพื่อหาก้อนเนื้อที่ผิดปกติ กรณีที่เราคลำไม่พบ

3. ตรวจมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากมดลูกก็เป็นโรคฮิตติดอันดับที่ผู้หญิงไทยเป็นกันมาก ซึ่งเราทราบกันดีว่าเจ้าวายร้ายที่ทำให้เกิดโรคก็คือ HPV ที่ส่วนใหญ่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ ฉะนั้นใครที่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็เสี่ยงต่อการเป็นโรค ในปัจจุบันเราจึงพบว่าเป็นโรคนี้แม้อายุยังน้อย เพราะสาวๆ มีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น การตรวจมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว หรือเรื่องที่น่าอาย ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วจึงควรตรวจหามะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรกด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือจะเป็นการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อตรวจหาการติดเชื้อไวรัส HPV นอกจากนี้ ยังสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ใน รพ.รัฐและเอกชน ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

4. ตรวจวัดความหนาแน่นกระดูก ผู้หญิงไทยตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีมากถึง 20% ที่มีอาการกระดูกพรุน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกหักได้ง่าย ฟังแค่นี้ก็คงตกใจกันแล้วใช่มั้ย! โดยปกติแล้วมวลกระดูกของผู้หญิงจะน้อยกว่าผู้ชายอยู่แล้ว ประกอบกับเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน ร่างกายจะไม่มีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen Hormone) ซึ่งเป็นตัวควบคุมการดูดซึมแคลเซียม (Calcium) เข้าสู่ร่างกาย จึงเกิดกระดูกพรุนได้ง่ายขึ้นไปอีก ด้วยเหตุนี้ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองจึงมีปัญหาสุขภาพกระดูกและข้อมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะกระดูกพรุน และกระดูกบาง จึงควรหาเวลาไปตรวจมวลกระดูกเพื่อหาภาวะกระดูกพรุน

5. ตรวจหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะผู้สูงวัยต้องไปตรวจโรคนี้ เพราะถือเป็น 1 ใน 3 ของสาเหตุการเสียชีวิตสูงสุด ที่สำคัญอาการเบื้องต้นจะไม่มีเลย แต่จะเกิดโรคในปัจจุบันทันด่วน คือแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก เจ็บลิ้นปี่ ร้าวไปกรามทั้งสองข้าง ลงไปที่แขนหรือมือ สาเหตุสำคัญก็คือ คอเลสเตอรอลสูง เป็นเบาหวานเรื้อรัง อ้วน มีความเครียด ไม่ออกกำลังกาย และติดบุหรี่

6. ตรวจโรคหลอดเลือดสมอง (STROKE) ผู้หญิงมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้นเรื่อยๆ และที่สำคัญมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าเพศชาย โดยโรคดังกล่าวคือภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก โดยผู้ป่วยด้วยโรคนี้จะมีอาการแขนขาอ่อนแรงเฉียบพลัน มึนงง วิงเวียน ทรงตัวไม่ได้ ใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด พูดไม่ได้ ซึ่งส่วนมากทุกอาการจะเกิดขึ้นพร้อมกันอย่างฉับพลัน ดังนั้นผู้พบเห็นต้องรีบขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ โทรสายด่วน 1669 เพื่อนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างทันที โดยต้องระลึกเสมอว่าการรักษาผู้ป่วยโรคนี้จะต้องรีบส่งเข้ารักษาภายในเวลา3 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยจะลดอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หรือพิการ

ขอบคุณข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข , หนังสือพิมพ์ NEW)108