ท่องแม่น้ำสุพรรณบุรี ดื่มด่ำกับสายน้ำแห่งอาราม

เขียนโดย 

ในอดีตแม่น้ำท่าจีน หรือแม่น้ำสุพรรณบุรี ถือเป็นเส้นเลือดสำคัญของบ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แม่น้ำท่าจีนจึงเป็นแม่น้ำสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรี ประชาชนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตลอดสองฝั่งของแม่น้ำนี้ ล้วนทำมาหากินโดยอาศัยทรัพยากรในลำน้ำ จับกุ้งหอยปูปลามากินเป็นอาหาร ใช้น้ำในแม่น้ำทำการเกษตร ทำนาทำสวน เพาะปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงปากเลี้ยงท้องคนในครอบครัวท้องถิ่น ตลอดจนการทำนาข้าวหล่อเลี้ยงคนในประเทศ

เส้นทางคมนาคมขนส่งของคนในจังหวัดสุพรรณบุรี ส่วนใหญ่อาศัยแม่น้ำท่าจีน เป็นเส้นทางสำคัญ สามารถเดินทางด้วยเรือ แพ ได้อย่างสะดวกสบาย ขนส่งสิ่งของได้มากโดยไม่ต้องใช้แรงงานคนหรือสัตว์พาหนะให้ยุ่งยากสิ้น เปลือง และสามารถเดินทางไปได้ไกลๆเนื่องจากแม่น้ำท่าจีนมีความยาวถึงราว 300 กิโลเมตร กว้าง 60 เมตรโดยเฉลี่ย เริ่มต้นโดยแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ไหลผ่านจังหวัดชัยนาท เรียกว่าแม่น้ำมะขามเฒ่า ไหลผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอเดิมบางนางบวช สามชุก ศรีประจันต์ บางปลาม้า สองพี่น้อง เรียกว่าแม่น้ำสุพรรณบุรี ไหลผ่านจังหวัดนครปฐม บางเลน นครชัยศรี เรียกว่าแม่น้ำนครชัยศรีและไหลผ่านจังหวัดสมุทรสาครลงสู่อ่าวไทย เรียกว่าแม่น้ำท่าจีน รวมไหลผ่านทั้งหมด 5 จังหวัด ทั้งยังมีลำคลองสาขากระจัดกระจายซอกซอนไปทั่วทุกพื้นที่สภาพของน้ำในแม่น้ำ ท่าจีน มีน้ำคลองไหลหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดปีไม่เคยขาดช่วง

น้ำในแม่น้ำนี้ถึงแม้จะไม่ใสนักแต่ก็สะอาดไม่เน่าเหม็นในฤดูน้ำ หลากระหว่างเดือน 11 เดือน 12 เดือนอ้ายและเดือนยี่ น้ำจะหลากท่วมทั้งสองฝั่งคลองเจิ่งนองในท้องทุ่งอย่างกว้างขวางช่วยให้ ชาวนาสามารถปลูกข้าวได้ผลผลิตงดงามทุกปี แถมยังมีพืชผัก เช่น กระเฉด ผักบุ้ง ผักตบชวา สาหร่าย สายบัวและผักน้ำนาชนิดกับกุ้ง หอย ปู ปลา มากมายให้ใช้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องผู้คนในชุมชนได้อย่างอุดมสมบูรณ์ แถมยังมีเผื่อแผ่ส่งออกไปขายให้ผู้คนในชุมชนอื่นๆอีกด้วย จึงนับเป็นความเฉลียวฉลาดของบรรพบุรุษชาวสุวรรณภูมิเราที่มาเลือกที่ตั้ง ชุมชนอยู่บนฟากฝั่งของแม่น้ำสายนี้ เพราะนี่คือระบบนิเวศที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง


นอกจากเป็นที่อยู่ที่กินและเส้นทางคมนาคมขนส่งแล้ว แม่น้ำยังเป็นแหล่งก่อเกิดของศิลปวัฒนธรรมของประชาชนในชุมชนสองฝั่งอย่างงด งามอีกด้วย ไม่ว่าเพลงเรือ ลำตัด เพลงฉ่อย เพลงเห่เรือ ลิเก เพลงลูกทุ่ง นอกจากนั้นยังมีประเพณีการละเล่นต่างๆ เช่น การแข่งเรือยาว ประเพณีตักบาตรกลางน้ำ ประเพณีขอขมาพระแม่คงคา และการเล่นกีฬาทางน้ำอื่นๆ ศิลปวัฒนธรรมเหล่านี้มีวิวัฒนาการสืบทอดกันมายาวนาน น่าเสียดายที่บัดนี้ศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นกำลังค่อยๆเสื่อมสูญไป หลงเหลือไว้เพียงร่อยรอยอดีตของสายน้ำแห่งวัฒนธรรมที่งดงาม และบ้านเรือนไทยริมน้ำที่ยังพอมีให้เห็นเพื่อย้ำเตือนคุณค่าแห่งสายน้ำนี้

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ วัน, วันที่ เดือน ปี ชม:นาที
บทความอื่นๆในหมวดหมู่นี้ รุ่งเรืองเกษตรกรรม »