เสื้อหม้อห้อมนอกจากจะมีสินค้าขึ้นชื่อของจังหวัดแพร่แล้ว ผ้าตีนจก ยังเป็นมรดกตกทอดชิ้นสำคัญของชาวจังหวัดแพร่อีกด้วย ผ้าตีนจกที่ขึ้นชื่อและยังทอกันเป็นล่ำเป็นสันจนถึงวันนี้อยู่ที่อำเภอลองอาคารคอนกรีตสีครีม 2 ชั้น อยู่ตรงข้ามกับโรงเรียนลองวิทยา เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โกมลผ้าโบราณ แหล่งรวบรวมผ้าซิ่นตีนจกเก่าแก่ บางผืนอายุเป็นร้อยปีทีเดียว
คุณโกมล พานิชพันธ์ เจ้าของพิพิธภัณฑ์ ที่รักผ้าตีนจกเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่หวง นำมาให้คนอื่นได้เชยชมเป็นขวัญตาหาความรู้ เล่าให้ฟังว่า แรกเริ่มจากการช่วย อาจารย์วิถี พานิชพันธ์ ผู้เป็นอา เก็บสะสมผ้าซิ่นตีนจก ผ้าโบราณของอำเภอลอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา จากนั้นก็เริ่มศึกษาเกี่ยวกับผ้าตีนจกอย่างจริงจังเรื่อยมา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2530 จึงได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขึ้น ใช้เป็นที่ศึกษาค้นคว้าสำหรับเด็กๆ ในท้องถิ่น และบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจหัตถกรรมพื้นบ้าน
ชั้นบนของพิพิธภัณฑ์จัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกโบราณ พร้อมประวัติความเป็นมาของซิ่นแต่ละผืน ส่วนชั้นล่างมีตู้ที่ใช้เก็บรักษาผ้าเก่ามิให้ชำรุดเสียหาย และยังคงลวดลายให้คล้ายกับของเดิม เพื่อเป็นการสืบสานงานทอมิให้สูญหายไป นอกจากนี้ ยังมีผ้าทอที่ได้รับรางวัลจากการประกวดในงานต่างๆ อีกมากมาย จัดแสดงไว้อีกมุมหนึ่งด้วย
“คนสมัยก่อนจะไม่นุ่งเพียงผืนเดียว ต้องมีผ้าซิ่นบางๆ นุ่งซ้อนด้านในอีกผืน เรียกว่าซิ่นซ้อน ด้วยเหตุที่ว่ากว่าจะทอซิ่นตีนจกแต่ละผืนสำเร็จนั้นต้องใช้เวลาในการทอนาน มาก จึงไม่นิยมนำซิ่นไปซักเหมือนเสื้อผ้าทั่วไป เพราะจะทำให้อายุการใช้งานสั้น ซิ่นตีนจกจะถูกนำมานุ่งเมื่อมีงานพิธีสำคัญๆ เท่านั้น ถ้าเป็นงานใหญ่ๆ ซิ่นเหล่านี้ก็จะถูกหยิบยืมมาจากคนภายในหมู่บ้าน ฉะนั้น ผู้เป็นเจ้าของซิ่นจึงต้องทอลายที่เป็นสัญลักษณ์ของตนไว้ด้านข้างของชายผ้า เพื่อกันมิให้ซิ่นของตนสลับกับของคนอื่น การทอเพื่อทำเครื่องหมายนี้เรียกว่า หมายซิ่น” คุณโกมล บอก
ตีนจก 1 ผืน นั้นแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ หัวซิ่น คือส่วนที่เป็นผ้าสีพื้น นิยมใช้ผ้าสีขาวกับสีแดง หรือสีดำกับสีแดงมาทำเป็นหัวซิ่น เวลานุ่งก็จะขมวดปมไว้ที่เอว ส่วนที่สองคือ ตัวซิ่น ส่วนนี้มีความสำคัญไม่น้อย เพราะเป็นส่วนที่มีลายจกเข้าประกอบอยู่ตลอดทั้งเชิง แต่ละส่วนจะไม่ทอในคราวเดียวกันทั้งหมด แต่จะแยกทอทีละส่วนแล้วนำมาเย็บประกอบกัน สาเหตุที่ซิ่น 1 ผืน จะต้องมีทั้งหัวซิ่นและตีนซิ่นนั้นก็เพราะว่าหากนุ่งซิ่นซึ่งมีแต่ลายขวาง เพียงอย่างเดียว จะทำให้ผู้นุ่งดูเตี้ย
พิพิธภัณฑ์ โกมลผ้าโบราณ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 ส่วน
ส่วนที่ 1 จิตรกรรมเวียงต้า เป็นงานศิลปะพื้นบ้านล้านนาชุดสำคัญที่มีคุณค่ามาก ลักษณะของภาพเขียนเป็นรูปแบบงานจิตรกรรม ของสกุลช่างศิลป์เมืองน่าน หากแต่ว่าเขียนภาพอยู่บนแผ่นไม้กระดานไม้สักประกอบกันหลายแผ่นเป็นฝาผนังของ อาคาร และแสดงถึงการแต่งกายของสตรีเมืองลองอย่างชัดเจน
ส่วนที่ 2 ผ้าโบราณเมืองลอง จัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกของกลุ่มไทโยนก “เมืองลอง” ที่มีลวดลายเหมือนกับภาพเขียนจิตรกรรมเวียงต้า ผ้าตีนจกเมืองลอง ประวัติศาสตร์การทอผ้าจกของเมืองลอง ไม่สามารถจะหาหลักฐานอ้างอิงชัดเจนได้ นอกจากตำนานการทอผ้าจากคนโบราณได้เล่าขานกันต่อมาว่า แม่น้ำยมที่ไหลผ่านเมืองลอง ในอดีตจะมีถ้ำอยู่ใต้น้ำถ้ำหนึ่ง เรียกว่า วังน้ำ (แถบตำบลปากกาง) ไปถึงแหลมลี่ มีคนน้ำคนหนึ่งซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เงือก ขึ้นมายืมฟืมทอผ้า (อุปกรณ์ทอผ้าทำด้วยไม้) เมื่อทอผ้าเสร็จมีการเฉลิมฉลองด้วยการบรรเลงดนตรี แล้วเงือกก็เอาฟืมมาคืนชาวบ้าน จนชาวบ้านสังเกตฟืม มีลวดลายบนหัวฟืม ที่มีสีสลับกันสวยงาม ชาวบ้านลองเอาฟืมที่มีลายทอผ้าต่อเนื่องจนเกิดเป็น ตีนซิ่น เรียกว่า ซิ่นตีนจก ที่เห็นในปัจจุบัน
ส่วนที่ 3 จัดแสดงผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งต่างๆ และเพื่อที่จะให้เกิดการพัฒนาของชุมชน ทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงผ้าจกจากแหล่งต่างๆ ในเชิงเปรียบเทียบ เพื่อให้คนในท้องถิ่นได้รู้และเห็นถึงความแตกต่างกันของผ้าตีนจกจากแหล่ง อื่นๆ เช่น ตีนจกแม่แจ่ม ตีนจกไหล่หิน ตีนจกนาน้อย ตีนจกหาดเสี้ยว ตีนจกราชบุรี ตีนจกลาวครั่งในแหล่งต่างๆ
ส่วนที่ 4 แสดงวิธีการเก็บผ้าโบราณ จัดเก็บผ้าโบราณโดยอาศัยภูมิปัญญาของคนโบราณที่ทำให้ผ้าสามารถอยู่ได้นานกว่า 200 ปี
ส่วนที่ 5 คือ ส่วนของร้านค้า จัดจำหน่ายผ้าตีนจกลายโบราณ ผ้าโบราณทำใหม่ พร้อมทั้งเสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อหม้อห้อม เสื้อสาลู ผ้าพันคอ เน็กไท เสื้อจากผ้ามุ้งสไตล์แขก เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายนักแสดงจากภาพยนตร์ชื่อดังหลายเรื่อง มาจากผ้าที่โกมลผ้าโบราณ ล่าสุดเห็นจะเป็นเรื่อง รอยไหม
สนใจเรื่องราวของผ้าซิ่นตีนจก หรือมีโอกาศเที่ยวที่จังหวัดแพร่ ก็อย่าลืมแวะมาหาความรู้และชมความสวยงามของผ้าโบราณได้ที่ ที่พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมลผ้าโบราณ
เลขที่ 157/2 ตรงข้ามโรงเรียนลองวิทยา อำเภอลอง จังหวัดแพร่ 54150 โทรศัพท์ (054) 581-532