ป้าฉวี จากเกษตรกรเคมี สู่ วิถีอินทรีย์ยั่งยืน ด้วย เกษตรอินทรีย์ ไร้สารพิษ สามารถสร้างรายได้ดีจริง เฉลี่ยวันละ 300-400 บาท หักค่าใช้จ่ายแล้วมีเงินเก็บประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน
วันนี้ ขอนำตัวอย่างเกษตรกรตัวอย่าง ที่ชีวิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น อย่าง "ป้าฉวี" จากเกษตรกรเคมี สู่ วิถีอินทรีย์ยั่งยืน ด้วย เกษตรอินทรีย์ ไร้สารพิษ สามารถสร้างรายได้ดีจริง มีชีวิตอิสระ มีความสุข อย่างยั่งยืน
จากกระแสความตื่นตัวเรื่องสุขภาพที่ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเห็นพิษภัยของเกษตรเคมี ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นผลดีกับผู้บริโภคแล้ว ตัวเกษตรกรเองก็ได้รับผลกระทบโดยตรง ด้วยเหตุนี้ทำให้สินค้าที่ผ่านการผลิตด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเกษตรกรเคมีหลายรายเปลี่ยนใจหันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น
นางฉวี สวนแก้ว หรือป้าฉวี หญิงชราในวัย 70 ปี ชาว ต.ทุ่งขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม หนึ่งในเกษตรกรเคมีที่ผันตัวมาเลือกทำเกษตรไร้สารพิษ ปัจจุบันบนพื้นที่ 5 ไร่ เต็มไปด้วย ถั่วพู กระชาย ผักชี คะน้า กวางตุ้ง ฟัก และกล้วยน้ำว้า ซึ่งพืชผักผลไม้เหล่านี้ ล้วนผ่านกรรมวิธีการปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ทั้งสิ้น
ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ป้าฉวีเหตุผลที่ต้องทำเกษตรแบบเคมีเพราะอยากได้ผลผลิตดี รูปร่างสวยงาม ทำให้ขายง่าย ราคาดี ทั้งสะดวกในการดูแลรักษา แต่เมื่อสัมผัสกับสารเคมีนานวันเข้า ร่างกายเริ่มอ่อนแอ โรคภัยไข้เจ็บรุมเร้า เงินที่ได้จากการค้าขายผลผลิตต้องเอามารักษาสุภาพ ปุ๋ยเคมี ก็มีราคาสูงขึ้น หักกลบลบหนี้แล้วไม่มีเงินเหลือ คิดแล้วการทำเกษตรแบบเคมีไม่ทำให้ชีวิตดีขึ้นเลย เสียสุขภาพ เสียเวลา ที่สำคัญเสียใจที่มีส่วนทำให้ผู้บริโภคต้องมารับสารพิษเหล่านี้เข้าไปด้วย
นี่เป็นจุดพลิกผันให้ป้าฉวีผันตัวเองเลือกทำเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจังเมื่อ ปี2553 โดยมีลูกสาว (สมศรี สวนแก้ว) ซึ่งทำงานโรงงาน เป็นกำลังหลัก และมีเครือข่ายเพื่อนเกษตรกรพี่น้องสองตำบล และมูลนิธิสังคมสุขใจ คอยเป็นพี่เลี้ยง
"การที่ร่างกายสัมผัสกับสารเคมีต่อเนื่องเป็นเวลานาน มันไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพเลย เดี๋ยวปวดตรงนั้น เดี๋ยวเจ็บตรงนี้ ไม่มีเรี่ยวแรง เหนื่อยง่าย คิดว่าหากเรายังทำแบบนี้ต่อไปชีวิตจะสั้นลงแน่นอน เลยตัดใจเลิกใช้สารเคมีอย่างเด็ดขาด หลายคนหัวเราะป้า เขาว่าทำแบบอินทรีย์ ไม่พอกิน แต่ก็ไม่ได้สนใจ คิดเพียงว่าทำกินเองในครอบครัว อยากให้คนที่เรารักสุขภาพแข็งแรง แต่พอลงมือทำอย่างจริงจัง นานวันเข้าผลตอบแทนที่ได้มันมากกว่าที่คิด ผลผลิตเป็นที่ยอมรับ มีรายได้แน่นอน ชีวิตความเป็นอยู่ให้สุขสบายขึ้น" ป้าฉวี กล่าว
เมื่อสินค้าประเภทเกษตรอินทรีย์ได้รับความนิยมเป็นที่ต้องการของตลาด นั่นหมายถึงโอกาสของพ่อค้าคนกลางที่เข้ามาฉกฉวย กดราคา เพื่อนำสินค้าเหล่านี้ไปทำกำไรเอาเงินเข้ากระเป๋า แต่สำหรับป้าฉวี กลับไม่กังวลกับเรื่องเหล่านี้เลย เพราะมีตลาดรองรับที่แน่นอน และขายได้ราคาดีด้วย
ป้าฉวีบอกว่า ช่วงแรกๆ อาจจะมีปัญหาด้านการตลาด เพราะผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญเรื่องสารเคมียังมีน้อย เห็นผักมีตำหนิ รูปร่างไม่สวย ก็ไม่อยากซื้อ แต่เมื่อหลายปีมานี้คนตื่นตัวมากขึ้น ความต้องเพิ่มมากขึ้นทำให้ผลผลิตเราขายดีไปด้วย ซึ่งทุกวันนี้มีตลาดรองรับที่แน่นอนโดยทุกวันอังคาร กับวันเสาร์ ส่งให้กับโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ ซึ่งจะรับซื้อและประกันราคาให้ ส่วนวันศุกร์กับวันเสาร์ ส่งไปขายที่ตลาดสุขใจ (ตลาดขายสินค้าอินทรีย์) และมีแม่ค้ามารับซื้อไปขายต่อบ้างบางส่วน แต่ละวันจะมีรายได้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 300-400 บาท ถือว่าอยู่ได้ หักค่าใช้จ่ายแล้วทำให้มีเงินเก็บประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน
นอกจากรับซื้อผลผลิตแล้วทุกสัปดาห์ ทีมเจ้าหน้าที่เกษตร ของสวนสามพรานฯจะลงพื้นที่ ไปให้คำปรึกษา และแนะนำ ติดตามความก้าวหน้า ในการดูแลแปลงผัก ขณะที่ป้าฉวี และลูกสาว มักจะไปเข้าประชุมกลุ่มทุกเดือน เพื่อเรียนรู้ เทคนิคและวิธีการพัฒนาแปลงปลูก รวมถึงวิธีแก้ปัญหา
สำหรับความรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ ป้าฉวี บอกว่า ได้เข้าโครงการ "สามพรานโมเดล" ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรในท้องถิ่น อ.สามพราน ยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลผลิตสู่เกษตรอินทรีย์ และพัฒนาระบบไปสู่มาตรฐานของสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movement) จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.)
ลูกสาวป้าฉวี เสริมว่า เริ่มเห็นว่าการเกษตรอินทรีย์ สามารถสร้างรายได้ดีจริง มีชีวิตอิสระ และไม่ได้เหนื่อยยากเกินไป ตัดสินใจจะลาออกจากโรงงานมาช่วยแม่เต็มตัว โดยตั้งใจจะปรับแผนการปลูกใหม่ ให้ทันและตรงกับความต้องการของตลาด เช่น ทำอย่างไรจะมี ผักบุ้ง ผักกว้างตุ้ง ส่งโรงแรมสามพรานฯ อย่างต่อเนื่อง และมีผักอื่นๆ ส่งไปขายเพิ่มด้วย
ป้าฉวี ระบุว่า ปัจจุบัน ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ ได้รับความนิยมมาก มีเท่าไรขายหมดตลอด และที่สำคัญกว่านั้น คือ สุขภาพดีขึ้นอย่างมาก ซึ่งในอนาคตจะพยายามเพิ่มผลผลิตและขยายเครือข่ายให้เพื่อนเกษตรกรคนอื่นๆ หันมาทำเกษตรอินทรีย์เช่นกัน
สำหรับผู้ที่สนใจอยากอุดหนุนสินค้าเกษตรของป้าฉวีที่ส่งตรงจากไร่แท้ๆ ไปเลือกชอปได้ที่ตลาดสุขใจ (ตลาดขายสินค้าอินทรีย์) ทุกวันเสาร์อาทิตย์ ณ สามพรานริเวอร์ไซด์ (สวนสามพราน) รวมถึง ในวันที่ 29-30 พฤศจิกายน 2557 นี้ จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการออกร้าน ขายผลผลิตอินทรีย์ ของเกษตรกรในอำเภอสามพราน ในงาน วันสังคมสุขใจ ครั้งที่ 1 ซึ่งจะจัด ณ สามพรานริเวอร์ไซด์ (สวนสามพราน) เช่นกัน
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์