พระยาเฉลิมอากาศ บิดาทหารอากาศไทย

เขียนโดย 

3. พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ

ใน ปี พ.ศ. ๒๔๕๔ หรือเมื่อกว่า ๑๐๐ ปีก่อน สยามส่งนายทหารหนุ่มสามนายไปยุโรป เพื่อศึกษาวิทยาการอันล้ำหน้าที่สุดของโลกยุคต้นศตวรรษที่ ๒๐ นั่นคือ "การบิน" และ พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ (สุนี สุวรรณประทีป ๒๔๓๐ – ๒๔๙๘) คือหนึ่งในสามของนายทหารหนุ่มชาวสยามรุ่นแรกที่กล้าหาญท้าทายในสิ่งทีเคยมี แต่ตัวละครในวรรณคดีเท่านั้นที่จะกระทำได้ นั่นคือการเหาะเหินเดินอากาศ และนั่นคงเป็นที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้

ครึ่งแรกของสยามเหาะ เป็นงานเขียนแนวสารคดีว่าด้วยประวัติชีวิตของพระยาเฉลิมอากาศ จากลูกหลานพ่อค้าจีนเมืองสุพรรณฯ สู่รั้วโรงเรียนนายร้อย แล้วก้าวขึ้นเครื่องบินของฝรั่งเมื่อแรกเข้ามาบินโชว์ในสยามเมื่อปีแรกใน รัชกาลที่ ๖ แล้วจึงได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสามของนักบินหมายเลข ๑-๒-๓ ของกองทัพสยาม เดินทางไปเรียนการบินที่ฝรังเศส กลับมาเริ่มสร้างกำลังทางอากาศจากศูนย์ และเมื่อสยามรัฐตัดสินใจก้าวกระโดดเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๑ นักบินหมายเลข ๑ คนนี้ก็ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้บังคับกองทหารอาสาเข้าสู่ สมรภูมิ...

และนี่เป็นเพียงบางส่วน จากชีวประวัติอันน่าตื่นตาตื่นใจของเจ้าคุณเฉลิมอากาศ ผู้มีอายุยืนยาวจากยุคแรกเริ่มการบินมาจนได้เห็นกองทัพอากาศไทยก้าวเข้าสู่ ยุคเครื่องบินไอพ่นในปีสุดท้ายของชีวิต

ส่วนครึ่งหลังของหนังสือ เป็นการรวบรวมเกร็ดต่างๆ เช่นข้อความจากปากคำของผู้ที่เคยรู้จักกับพระยาเฉลิมอากาศ (รวมถึงท่านผู้หญิงยศวดี อัมพรไพศาล ผู้ซึ่งเพิ่งถึงแก่กรรมไปด้วยอายุ ๑๐๕ ปีเมื่อไม่นานมานี้) ตลอดจนทายาทของอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้ง "ภาพเก่าเล่าเรื่อง" ว่าด้วยประวัติศาสตร์การบินยุคบุกเบิกของไทย

หนังสือเล่มเล็กๆ ที่ใช้ชื่อ สยามเหาะ เล่มนี้ อาจใช้อุปมาอย่างฝรั่งได้ว่าเป็นเพียงส่วนปลายของก้อนภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ พ้นขึ้นมาเหนือผิวน้ำ ทั้งนี้เพราะภารกิจคู่ขนานกับการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้คือการที่มูลนิธิ บ้านพระยาเฉลิมอากาศ โดยบรรดาทายาทสกุลสุวรรณประทีป มีความฝันอันใหญ่ยิ่งในการจะปรับปรุงบ้านตึกริมแม่น้ำสุพรรณบุรีของท่านเจ้า คุณ ที่ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ให้เป็น "แหล่งเรียนรู้" ที่จะมีครบครันทั้งนิทรรศการและกิจกรรมเสริมความรู้ ด้วยความมุ่งหวังจะให้สถานที่แห่งนี้กลายเป็น landmark ใหม่ของผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวมายังสุพรรณบุรีในอนาคตอันใกล้

ภารกิจนี้แน่นอนว่าคงต้องใช้ความทุ่มเทและกำลังแรงกายแรงใจอย่างมหาศาล เรียกได้ว่าไม่น้อยไปกว่าเมื่อครั้งที่พระยาเฉลิมอากาศสร้างกองทัพอากาศขึ้น เมื่อเกือบ ๑๐๐ ปีก่อนแน่นอน!

 

พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ เป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งของประเทศไทย คือ ท่านเป็นผู้ให้กำเนิดกองทัพอากาศ ทหารอากาศมักเรียกท่านว่า "พรหมแห่งกองอากาศไทย" หรือ "บูรพาจารย์แห่งกองทัพอากาศไทย" เกิดที่ ตำบลบ้านไร่ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๔๓๐ เป็นบุตรคนหนึ่งของหลวงอนุกูลราชกิจ (ทอง สุวรรณประทีป) กับนางอนุกูลราชกิจ (หรุ่น สุวรรณประทีป)

บ้านเกิดของพระยาเฉลิมอากาศเป็นเรือนแพ เมื่อเริ่มก่อตั้งที่ว่าการอำเภอศรีประจันต์ใหม่ๆ อาศัยเรือนแพของหลวงอนุกูลราชกิจเป็นที่ทำการ การศึกษาสมัยนั้นไม่เจริญ ในขั้นต้นบิดามารดาคงจะส่งพระยาเฉลิมอากาศเข้าไปเป็นลูกศิษย์วัด เพื่อเรียนหนังสือกับพระ ต่อมาจึงส่งพระยาเฉลิมอากาศเข้ากรุงเทพฯ เมื่อพ.ศ.๒๔๓๘ เข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส (วัดสามปลื้ม) โรงเรียนวัดมหาพฤฒาราม โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และพ.ศ.๒๔๔๖ เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก สำเร็จ พ.ศ.๒๔๔๘ จากนั้นออกรับราชการเป็นนายร้อยตรี

จากการรับราชการ  ทหารบก เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอกหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ วันที่๓ พฤษภาคม ๒๔๕๔ ได้ยศเป็นนายพันตรี

เมื่อ ต้นปี พ.ศ.๒๔๕๔ มีฝรั่งนำเครื่องบนชื่อออร์วิลล ไรท์ ใช้เครื่องยนต์ ๕๐ แรงม้า ความเร็วชั่วโมงละ ๕๐ กิโลเมตร เป็นเครื่องบินใบพัด ปีกสองชั้น มาแสดงการบินให้ประชาชนที่สนามม้าสระปทุม เมื่อฝรั่งบินไปให้ประชาชนชมแล้ว เชิญทหารไทยขึ้นเครื่องบินทดลอง ทางฝ่ายไทยให้พันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธขึ้นคนแรก หลวงศักดิ์ศัลยาวุธตกลงด้วยความเต็มใจ ขึ้นเครื่องบินคู่กับฝรั่ง บินร่อนอยู่ได้สองสามรอบแล้วกลับลงสู่พื้นดิน พอลงมาพันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธพูดว่า "เมื่อเครื่องบินอยู่ในอากาศนั้นไม่มีความรู้สึกอย่างไร สบายเหมือนนั่งรถยนต์"

หลังจากฝรั่งแสดงการบินในวันนั้น จอมพลพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสด็จประเทศยุโรป ทรงทราบว่าประเทศฝรั่งเศสกำลังปรับปรุงการบินเป็นการใหญ่ จึงทรงนึกถึงความจำเป็นที่ประเทศไทยจำต้องมีเครื่องบินไว้ป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหมจึงตั้งหน่วยเครื่องบินขึ้น ส่งนายทหารไปศึกษาวิชาการบินในประเทศฝรั่งเศส ทางราชการให้พันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ผู้บังคับกองทัพพิเศษที่ ๕ เดินทางไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส พร้อมด้วยเป็นนักบินนายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร (หลง สินศุข) (ต่อมาเป็น นาวาอากาศเอก พระยาเวหาสยานศิลปสิทธิ์) และนายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต (ต่อมาเป็น นาวาอากาศเอก พระยาทะยานพิฆาต) โดยพันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ไปศึกษาโรงเรียนการบิน ที่ตำบลวิล์ลาคูเบลย์ เรียนแบบนักบินพลเรือนส่วนอีกสองคนนั้นเข้าศึกษาโรงเรียนการบินของบริษัทนิ เออเปอร์ต เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕

หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ ฝึกบินด้วยเครื่องบินเบรเกต์ปีกสองชั้น หลวงวุธสิขิกรกับร้อยโททิพย์ เกตุทัต ฝึกด้วยเครื่องบินนิเออปอร์ปีกชั้นเดียวจนถึงวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๔๕๕ พันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ สอบไล่ตามหลักสูตรสโมสรการบินพลเรือนของประเทศฝรั่งเศส

การศึกษา  การบินของบุคคลทั้งสามสอบไล่ได้ใกล้ๆ กัน แล้วเดินทางไปดูการบินในที่ต่างๆ เช่นประเทศอังกฤษและรัสเซีย เป็นต้น และในระหว่างการเรียนการบินอยู่นั้นได้ติดต่อซื้อเครื่องบินให้กระทรวง กลาโหมด้วย เป็นจำนวน ๗ เครื่อง เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๔๕๖ ได้เลื่อนยศเป็นนายพันโท และในวันนั้นเองจะต้องสอบการบินเดินทางไกล ๒๐๐ กิโลเมตร กับวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๕๖ ต้องบินแบบสามเหลี่ยม ๓๐๐ กิโลเมตร บังเอิญเครื่องบินชำรุดก้านสูบขาดจึงต้องร่อนลงสู่พื้นดิน แก้ไขจนใช้การได้จึงบินขึ้นใหม่ ขณะบินขึ้นต้องเลี่ยงหลบยอดไม้ เครื่องบินจึงแฉลบตกลงกระแทกพื้นดิน เครื่องบินเสียหายมากแต่พันโทหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ มิได้รับอันตรายใดๆ เลย เมื่อทำการสอบใหม่ในวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๔๕๖ ก็สอบไล่ได้ตามหลักสูตรของกองทัพบกฝรั่งเศส และมีฐานะเป็นนักบินทหารเมื่อเรียนจบการบินทหารและการบินพลเรือนแล้ว เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ วันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๔๕๖

ต่อมาวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการบิน พันโทหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ บินถวายตัวพร้อมโปรยข้าวตอกดอกไม้ถวายพระพรชัยมงคล เสด็จการบินถวายตัวแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเหรียญดุษฏีมาลาเข็มศิลปวิทยาแก่พันโทหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ และต่อมาได้รับพระราชทานยศเป็น พันโทพระยาเฉลิมอากาศ เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๕๗

กระทรวงกลาโหม พิจารณาเห็นว่าสนามม้าสระปทุมคับแคบและเป็นที่ลุ่มไม่เหมาะสมที่จะ เป็นสนามบิน หากกิจารบินไทยจะต้องขยายใหญ่ขึ้น พันโทพระยาเฉลิมอากาศ จึงเสาะหาสถานที่ใหม่เป็นที่ดอน น้ำไม่ท่วมเมื่อถึงฤดูน้ำเหนือหลาก พบที่ดอนที่ดอนเมืองเหมาะสมที่จะเป็นสนามบินการ จึงรายงานให้กระทรวงกลาโหมทราบ กระทรวงจึงสั่งกรมเกียกกายทหารบกเริ่มดำเนินการตามที่พันโทพระยาเฉลิมอากาศ เสนอ เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๕๗ ณ สนามบินดอนเมืองได้มีการทดลองเครื่องบินลำแรก สร้างโดยน้ำมือของคนไทยใช้วัสดุภายในประเทศ ยกเว้นแต่เครื่องยนต์เท่านั้น ต่อมาอีกสามเดือนโรงงานกองบินทหารบกก็สร้างเครื่องบินปีกสองชั้นแบบเบรเกต์ ออกทดลองบินเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๕๘ เป็นครั้งแรก นับเป็นผลสำเร็จในการบินอย่างยิ่ง พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้เลื่อนยศเป็นนายพันเอก  หลังจากนั้นอีก ๔ ปี กระทรวงกลาโหมยกฐานะกองบินทหารบกขึ้นเป็นกรมอากาศยานทหารบก ในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๖๑ ล่วงเข้า พ.ศ.๒๔๖๓ ได้เป็นพระยาเฉลิมอากาศ ถือศักดินา ๑,๕๐๐ ไร่ ใน ระหว่างเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ พระยาเฉลิมอากาศไปราชการสงครามร่วมศึกกับพันธมิตร เมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน ๒๔๖๑ เสร็จสงครามแล้วเดินทางกลับถึงเมืองไทยวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๔๖๑

ท่านลาออกจากราชการ  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๗๕ วันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๗๖ ท่านกลับเข้าทำหน้าที่ผู้กำกับการบินพลเรือน เป็นนายทหารนอกราชการ พ.ศ.๒๔๘๑ จวบจนกระทั่งวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๘๖ จึงลาออกจากราชการเพื่อรับบำนาญ

พลอากาศโท พระยาเฉลิมอากาศ ถึงแก่อนิจกรรม  เมื่อวันที่ ๑๔กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๘ และพระราชทานเพลิงศพฯ ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๔๙๙

อ้างอิง...http://www.muangboranjournal.com/modules.php?name=News&file=article&sid=3841
http://www.suphan.dusit.ac.th/sdusuphan/index.php?option=com_content&view=article&id=76&Itemid=132
ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ วัน, วันที่ เดือน ปี ชม:นาที

อัลบั้มรูป