4 วิธี สลัดความขี้เกียจ

เขียนโดย 
 

ความขี้เกียจ คือ หนึ่งในศัตรูตัวฉกาจของการใช้ชีวิต ที่จะขัดขวางไม่ให้เราไปถึงเป้าหมาย เพราะมัวแต่ผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ และหากมันเกาะติดตัวไปนานๆ มันจะเปลี่ยนตัวเราให้กลายเป็นคนหยุดนิ่ง เฉื่อยชา จนไม่อยากจะทำอะไรอีกต่อไป
วิธีที่หนึ่ง : ดูแลร่างกายและจิตใจ
ถ้าคุณรู้สึกขี้เกียจ สิ่งแรกที่อยากให้นึกถึงคือ อาจเป็นเพราะร่างกายและจิตใจของคุณยังไม่พร้อม จึงควรหาวิธีดูแล เพื่อสร้างพลังให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนี้
1. นอนหลับ ควรนอนหลับให้ได้วันละ 8 ชม. และพยายามนอนให้ตรงเวลาทุกวัน เพราะการเข้านอนไม่เป็นเวลาหรืออดนอน อาจส่งผลให้หมดเรี่ยวแรงและขี้เกียจได้
2. ออกกำลังกายเป็นประจำ เริ่มง่ายๆด้วยการเดินเร็วๆ ก็จะช่วยเพิ่มพลัง และทำให้ร่างกายหลั่งสารเอนดอร์ฟิน ซึ่งช่วยให้อารมณ์ดี กระตุ้นให้คุณรู้สึกอยากออกไปทำบางสิ่งบางอย่างให้สำเร็จ
3. กินอาหารที่มีประโยชน์ การกินอาหารไม่ครบหมวดหมู่ อาจส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า และความรู้สึกขี้เกียจก็จะตามมา ทางที่ดีควรพยายามงดพวกอาหารขยะ(Junk Foods) และหันมากินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบมื้อทุกวัน
4. ขอความช่วยเหลือ หากทำตาม 3 ข้อข้างต้นแล้ว ยังรู้สึกขาดเรี่ยวแรงและขี้เกียจอยู่ นั่นอาจเกิดจากภาวะซึมเศร้าหรือปัญหาสุขภาพจิตร้ายแรง เช่น โรคสมาธิสั้น จึงควรได้รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ
 
วิธีที่สอง : สร้างความรู้สึกดีๆให้ตัวเอง
ความรู้สึกขี้เกียจ เฉื่อยชา มักเกี่ยวข้องโดยตรงกับความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเองหรือชีวิต และต่อไปนี้คือวิธีง่ายๆที่จะช่วยให้เกิดความรู้สึกดีๆขึ้นได้
1. ทำความสะอาดบ้านและที่ทำงาน บ่อยครั้งที่การจัดบ้านและที่ทำงานให้แลดูสะอาด เป็นระเบียบ ไม่รกรุงรัง เปรียบเสมือนการหยิบความยุ่งเหยิงออกจากใจ ซึ่งจะช่วยให้คุณรู้สึกมีพลัง อยากทำงานมากยิ่งขึ้น
2. เริ่มต้นวันด้วยการพูดเรื่องดีๆกับตัวเอง เช่น "วันนี้ฉันจะเคลียร์งานที่ได้รับมอบหมายมาให้เสร็จ"
3. ฟังดนตรีเร้าใจ อย่างเช่นดนตรีที่ใช้ประกอบการออกกำลังกาย เช่น การเต้นแอโรบิค จะกระตุ้นให้เกิดพลังและความกระปรี้กระเปร่า คุณจึงเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างแจ่มใส
4. เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมที่แตกต่าง มีผลทำให้ผลงานที่เกิดขึ้นเปลี่ยนแปลงไปด้วย เช่น ถ้าคุณพยายามทำงานชิ้นหนึ่งในห้องนอน มีแนวโน้มที่คุณจะอยากเอนตัวลงนอน มากกว่านั่งทำงาน ดังนั้น หากต้องการทำงานนั้นให้สำเร็จ ควรเปลี่ยนสถานที่ในการทำงานนั้นๆ
5. อยู่ท่ามกลางคนคิดบวก คุณอยู่ใกล้คนแบบไหน ก็จะมีพฤติกรรมคล้ายคนแบบนั้น จึงควรพาตัวเองเข้าไปคลุกคลีกับกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จและเป็นแรงบันดาล ใจให้คุณ เพราะพลังด้านดีจากคนเหล่านั้นจะเผื่อแผ่มายังคุณด้วย
6. บอกเป้าหมายของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ ถ้าคุณกำลังคิดจะเปลี่ยนงานหรือเรียนต่อ จงบอกให้คนรอบข้างรับรู้ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้คุณขี้เกียจไม่ได้ และเป็นเงื่อนไขว่าคุณต้องทำให้สำเร็จ
7. ไม่ต้องเป๊ะเสมอไป หากคุณกำลังรอคอยเวลาเหมาะๆ ที่จะทำงานให้สำเร็จโดยไม่มีข้อผิดพลาด ต้องบอกว่า รอไปเถอะ ไม่มีทางได้เริ่มต้นทำแน่ๆ และที่น่าเสียดายคือ ความสมบูรณ์ไร้ที่ตินั้น มักเป็นหนึ่งในข้ออ้างหลักๆที่ทำให้คุณผัดผ่อนไปเรื่อยๆนั่นเอง
 
วิธีที่สาม : จัดแบ่งเวลาให้ลงตัว
หากมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ต้องทำ จนไม่รู้จะเริ่มต้นทำอันไหนก่อนดี ลองทำตามวิธีต่อไปนี้ ที่จะช่วยให้คุณจัดสรรเวลาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
1. เขียนรายการสิ่งที่ต้องทำ เมื่อมีหลายเรื่องที่ต้องทำในแต่ละวัน ควรเขียนลำดับความสำคัญของงานลงบนกระดาษ เพื่อช่วยให้เห็นถึงเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำ ดังนี้ "สิ่งที่ต้องทำ" "สิ่งที่ควรทำ" และ "สิ่งที่น่าจะทำ"
2. อย่าทำเรื่องยากเป็นเรื่องแรก เมื่อเริ่มต้นวัน ขอให้อุ่นเครื่องด้วยการทำงานง่ายๆ เป็นอันดับแรกก่อน จะได้มีเวลาเหลือไว้ทำเรื่องยากที่สุด เพราะงานยากมักต้องใช้เวลาทำมากกว่าปกติ ซึ่งการทำงานง่ายๆให้สำเร็จก่อน จะช่วยให้มีกำลังใจทำงานชิ้นยากๆต่อไปได้
3. ทำตามกำลัง อย่าเหมางานทั้งหมดมาทำเอง เพราะงานที่มากเกินกำลัง จะทำให้รู้สึกขี้เกียจ จนไม่อยากทำ ขอให้เลือกเพียง 1-2 เรื่อง และทุ่มเททำมันให้สำเร็จ ที่สำคัญ อย่าทำหลายๆเรื่องพร้อมกัน จนทำไม่ได้ดีสักเรื่อง
4. ย่อยงานเป็นชิ้นเล็กๆ มีอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยหลีกเลี่ยงความรู้สึกว่ากำลังทำงานชิ้นใหญ่ คือ การย่อยงานเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วลงมือทำแต่ละชิ้นให้สำเร็จ
5. ขีดเส้นตาย หากมีโครงการที่ต้องทำ ขอแนะให้ขีดเส้นตายว่า ต้องทำให้เสร็จเมื่อไหร่ ไม่งั้น คุณก็จะเลื่อนมันไปจนถึงวินาทีสุดท้าย จึงค่อยลงมือทำ แต่ถ้าจะให้ดี ควรทำเป็นตารางเวลา ระบุการทำงานทุกขั้นตอนจนเสร็จสิ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณไม่ต้องเร่งรีบจนเกินไป
 
วิธีที่สี่ : ใช้เวลาอย่างมีคุณค่า
เวลาของคุณมีค่าเสมอ จึงต้องรู้วิธีจัดการ เพื่อขจัดความขี้เกียจ และใช้เวลาในแต่ละวันให้คุ้มค่า ดังนี้
1. ใช้เวลาว่างเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หาเวลาว่างทำงานอดิเรกหรือสิ่งที่สนใจใหม่ๆบ้าง เพราะมันจะช่วยเติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
2. ทำทันที หากมีงานที่ได้รับมอบหมายให้ทำ อย่าเลื่อนไปจนถึงวันหยุด ค่อยลงมือทำ แต่ขอให้เริ่มต้นทำทันที
3. ขจัดโรคเลื่อน ต้องรู้ถึงสิ่งที่ทำให้คุณผัดผ่อนไปเรื่อยๆ และกำจัดมันทิ้งไป เช่น หากเป็นคนติดหน้าจอคอมพิวเตอร์ ขอให้ย้ายไปทำงานในห้องที่ไม่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ หรือหากกำลังติดเล่นไลน์ ขอให้ปิดโทรศัพท์มือถือขณะทำงาน
4. ต้องตรงต่อเวลา ถ้าตั้งใจว่า จะเริ่มต้นทำงานเวลา 9 โมงเช้า ก็ต้องทำตามนั้น พยายามอย่าเลื่อนเวลาออกไป
5. กำหนดเวลาทำงานและหยุดพัก มันเป็นเรื่องปกติที่การทำงานต้องมีช่วงเวลาหยุดพักบ้าง แต่ควรกำหนดไว้ เช่น ตั้งกฎว่า เมื่อทำงานครบทุก 50 นาที จะหยุดพัก 10 นาที
6. มีวินัย หากเปรียบความขี้เกียจคือโรคแล้วละก็ ต้องบอกว่า ปัจจุบันยังไม่มียารักษาให้หายขาด มีเพียงหนทางเดียวที่จะกำจัดได้ คือ ขอให้มีความตั้งใจที่จะทำงานให้สำเร็จ และมีวินัยต่อตัวเอง
 
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 161 พฤษภาคม 2557 โดย ประกายรุ้ง)
ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ วัน, วันที่ เดือน ปี ชม:นาที