จะห้ามใจอย่างไร ยามทุกข์ใจ

เขียนโดย 

โดย... พระอาจารย์มานพ อุปสโม วัดนายโรง กรุงเทพมหานคร

...
หากลองสังเกตดูจักพบว่า ในชีวิตประจำวันนั้น เรามักไม่สบายใจเพราะสิ่งที่เราชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้าง และใจของเราก็ดำริถึงแต่สิ่งเหล่านี้ คราวนี้จะทำอย่างไรกันหละ

...
สาเหตุที่ทำให้ใจไม่สงบ เกิดจากการดำริถึงสิ่งที่น่ารักบ้างน่าชังบ้าง หรือดำริถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตบ้าง ดำริถึงเรื่องราวต่างๆ ที่ยังไม่บังเกิดขึ้นบ้าง เราก็หวาดกลัวคิดถึงเรื่องต่างๆ ที่น่ารักน่าชอบใจก็เกิดความอาลัยอาวรณ์เพราะสิ่งเหล่านั้นจากไป คิดถึงสิ่งที่น่ารักน่าชอบใจที่อันตรทานจากไปแล้ว เราก็เกิดความรู้สึกเสียดาย คิดถึงสิ่งที่ไม่น่ารักไม่น่าชอบใจเราก็เกิดความไม่สบาย
...
พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า...
ถ้าอยากจะให้สบายใจ หยุดคิดซะ หยุดคิดถึงบุคคลที่เรารัก หยุดคิดถึงบุคคลที่เราชัง หยุดคิดถึงเรื่องในอดีต หยุดคิดถึงเรื่องในอนาคต ท่านให้เราห้ามใจ...
แต่การห้ามใจมันห้ามลำบาก ห้ามไม่ให้คิดถึงคนที่เรารักเราห่วงใย ห้ามไม่ให้เราคิดบุคคลที่เราเกลียดเราไม่ชอบใจ ห้ามใจลำบาก...

...
เมื่อห้ามใจลำบากห้ามไม่ได้...."ท่านให้เราคิดถึงสิ่งใหม่ๆ แทน ให้เราหาสิ่งใหม่ๆ ให้เรามาคิดถึงแทน ท่านให้เราคิดถึงอะไร ท่านให้คิดถึงตัวเอง ให้เราเริ่มคิดถึงตัวเองเราก็หยุดคิดถึงเขา ให้เอาใจมาไว้กับตัวเอง เอาใจมาไว้กับกาย เอาใจมาไว้กับความรู้สึก...
...
ถ้าเราต้องการจะหยุดคิดถึงอดีต อนาคต พรากจิตออกจากอดีต อนาคต ท่านให้มากำหนดปัจจุบัน"
...
เพราะอะไรจึงน้อยใจ...
กำหนดเรื่องปัจจุบันที่นี่เดี๋ยวนี้ขณะนี้ เพื่อเพราะต้องการให้เราหยุดกังวลเพราะบุคคลที่เรารักเราชอบใจ และบุคคลที่เราเกลียดชัง
...
ถ้าใครไม่สบายใจชอบหงุดหงิดใจ ชอบโกรธ ชอบอะไรอย่างนั้นอย่างนี้ ชอบน้อยใจอะไรต่างๆ ท่านให้กลับมาคิดถึงตัวเองแทน ตรงนี้นี่แหลจะทำให้จิตของเราสบาย
...
และในวัยของเราเป็นวัยต้องระวัง ต้องระวังอย่างไร เราอยู่ในช่วงเกิดความรู้สึกน้อยใจบ่อยๆ วัยชราเป็นวัยที่ชอบน้อยใจ ทำไมชอบน้อยใจลูก น้อยใจหลาย ทำไมจึงน้อยใจ เพราะว่าลูกหลานเขาคิดไม่ตรงกับเรา วัยมันต่างกันต้องเข้าใจ ช่องว่างระหว่างวัยเกิด
...
วัยรุ่นกับเราจะคิดเหมือนกันไม่ได้ วัยรุ่นก็คิดไปเรื่องสนุกสนานเฮฮารื่นเริงบันเทิงไป วัยของเรามันหยุดแล้ว หยุดเฮฮา หยุดสนุกสนานรื่นเริงบันเทิงใจ เราก็อยากให้ลูกหลานเอาใจ ลูกหลานก็คิดไม่ตรงกับเรา เมื่อคิดไม่ตรงกันลูกหลานก็เลยไม่อยากอยู่ใกล้เรา เราก็เลยน้อยใจ
...
ฉะนั้น การทำให้ใจของเราไม่เป็นทุกข์ หยุดคิดถึงลูกถึงหลาน หยุดคิดถึงคนที่เราชอบใจไม่ชอบใจ แล้วกลับมาคิดถึงตัวเอง กลับมาดูตัวเอง กลับมาใส่ใจในตัวเอง โดยการคิดถึงกายคิดถึงความรู้สึก 2 ประการ
...
อานิสงส์ของการเจริญสติใส่ใจคิดถึงกาย คิดถึงความรู้สึกของตนเอง
พระพุทธเจ้าสอนให้เราคิดถึงกายของตัวเอง คิดถึงความรู้สึกของตัวเอง ฉะนั้น ในวัยของเราๆ มุ่งในการปฏิบัติธรรม มุ่งเจริญสติ มุ่งอบรมปัญญา และมุ่งใส่ใจในตัวเอง มุ่งกำหนดตัวเอง พรากจิตออกจากอดีตอนาคต พรากจิตออกจากบุคคลที่เรารัก บุคคลที่เราชัง
...
เมื่อเราพรากจิตออกจากบุคคลที่เรารัก พรากจิตออกจากบุคคลที่เราชัง พรากจิตออกจากอดีต พรากจิตออกจากอนาคต ใจของเราก็จะไม่หวั่นไหว ใจของเราก็จะไม่เศร้าหมอง ใจของเราก็ไม่ขุ่นมัว แล้วใจของเราก็จะได้รับความสุข เมื่อใจของเราผ่องใสแล้ว ในขณะใกล้ตายหรือเราตายไปในขณะนั้น อำนาจของจิตที่ผ่องใสนั้นจะสนับสนุนส่งผลให้ไปสู่สุขคติ ไม่ไปสู่ทุกข์คติ
...
การเตรียมตัวก่อนตาย คือ ให้ระวังใจ
ฉะนั้น การเตรียมตัวก่อนตายของเราก็คือให้ระวังใจ โดยการทำใจให้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวด้วยการกำหนดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง กำหนดลมหายใจอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก ประเด็นหนึ่ง อีกประเด็นหนึ่ง เอาใจมาไว้กับตัวเอง ขณะใจอยู่กับตัวเอง ใจหยุดคิดถึงบุคคลที่เรารัก ใจหยุดคิดถึงบุคคลที่เราเกลียดชัง เมื่อใจไม่คิดถึงบุคคลที่เรารัก เมื่อใจไม่คิดถึงบุคคลที่เราเกลียดชัง ขณะนั้นใจของเราก็ไม่หวั่นไหว ใจของเราก็ไม่เป็นทุกข์....