พระพุทธองค์ทรงสอนว่า “บุคคลจะล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร” คือ การมีแต่ปัญญายังจะช่วยให้พ้นทุกข์ไม่ได้ถาวร จะต้องมีความเพียรอันมั่นคงเท่านั้น จึงจะพ้นทุกข์ได้ถาวร ซึ่งการตั้งจิตอธิฐานเพื่อให้มีการทำความเพียรอย่างมั่นคงนี้จะช่วยให้ประสบ ผลสำเร็จได้ตามปรารถนาฯ
ปัจจัยของความเพียร
๑.ระบบ ๓...ชีวิตของเรานี้สามารถแยกออกเป็นระบบเพื่อศึกษาได้ ๓ ระบบ อันได้แก่
๑.ระบบกาย คือสิ่งที่เกี่ยวกับร่างกาย
๒.ระบบจิต คือสิ่งที่เกี่ยวกับจิต
๓.ระบบวิญญาณ (หรือระบบปัญญา) คือสิ่งที่เกี่ยวกับความรอบรู้ของจิต
ระบบกายนี้ ก็คือ เรื่องทางร่างกายที่มีโรคภัยเป็นสิ่งเสียดแทง
ส่วนระบบจิตนี้ ก็คือ เรื่องสมรรถภาพของจิต เช่น มีสมาธิมาก หรือมีสมาธิน้อย จำเก่ง, คิดเร็ว, คิดช้า, เป็นต้น โดยมีนิวรณ์และกิเลสเป็นสิ่งเสียดแทง
ส่วนระบบวิญญาณ ก็คือ เรื่องส่วนลึกของจิตที่เป็นเรื่องความรู้, ความเชื่อ, ความเห็น, น้ำใจ, อุปนิสัยเป็นต้น เช่น ที่เรียกว่าวิญญาณของความเป็นครู, วิญญาณของความเป็นนักกีฬา เป็นต้น โดยสิ่งที่มาเสียดแทงก็คือ ความโง่หรืออวิชชา
บางคนอาจจะเชื่อว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถพัฒนาได้ แต่พุทธศาสนาจะสอนว่า ชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ โดยการพัฒนาระบบทั้ง ๓ นี้ ซึ่งการพัฒนา ก็ใช้หลักการเจริญอริยมรรคนั่นเอง คือศีล จะมาพัฒนา ระบบทางกาย
สมาธิ จะมาพัฒนา ระบบจิต
ปัญญา จะมาพัฒนา ระบบวิญญาณ
*๒.จริต ๖..."จริต" หมายถึง ลักษณะอาการของจิตที่มีอยู่จนเป็นปกติ ซึ่งจริตของเรานี้ก็พอจะสรุปได้ ๖ จริต
๑.ราคะจริต คือ มีราคะเป็นปกติ
๒.โทสะจริต คือ มีโทสะเป็นปกติ
๓.โมหะจริต คือ มีโมหะเป็นปกติ
๔.วิตักกะจริต คือ มีความคิดพล่านเป็นปกติ
๕.สัทธาจริต คือ มีความเชื่อง่ายเป็นปกติ
๖.พุทธะจริต คือ มีเฉลียวฉลาดเป็นปกติ
ในความเป็นจริงนั้น จิตของคนเราย่อมที่จะมีจริตทั้ง ๖ นี้อยู่ด้วยทั้งสิ้น จะต่างกันตรงที่ จิตของใครจะมีจริตใดมากหรือน้อยกว่ากันเท่านั้น ดังนั้น เราจึงควรเลือกแนวทางอริยมรรค ให้ตรงกับจริตของเราเพื่อที่จะได้ทำให้การปฏิบัติได้ผลเร็วยิ่งขึ้น เช่น การเจริญอสุภะเพื่อกำจัดราคะจริต หรือเจริญพรหมวิหารเพื่อแก้โทสะจริต หรือเจริญพุทธานุสติเพื่อกำจัดสัทธาจริต เป็นต้น ส่วนพุทธะจริตนั้นควรเจริญอานาปานสติ เป็นต้น
*๓.วิธีกำจัดกิเลส...การพูดว่า ละราคะ, โทสะ, โมหะนั้นเป็นการพูดรวมๆ ซึ่งถ้าจะพูดให้ละเอียดจะต้องพูดว่า...
ราคะ เป็นสิ่งที่ควรละ คือ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วสามารถละได้ทันที โดยละทิ้งอารมณ์ที่มาสัมผัส
โทสะ เป็นสิ่งที่ควรบรรเทา คือ เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วไม่สามารถละได้ทันที แม้จะละอารมณ์ของมันแล้ว ดังนั้น จึงควรบรรเทา คือ ค่อยๆ ให้มันอ่อนกำลังลง จนกระทั่งดับไป
โมหะ เป็นสิ่งที่ควรถอน คือ ต้องถอนรากถอนโคนมัน ด้วยการสร้างปัญญาหรือความเห็นแจ้งให้เกิดขึ้นมา
*ลักษณะโทษและการคลายของกิเลสนั้นจะมีดังนี้
๑.ราคะนั้นมีโทษน้อยแต่ว่าคลายช้า
๒.โทสะนั้นมีโทษมากแต่คลายเร็ว
๓.โมหะนั้นมีโทษมากและคลายยาก
"ราคะ" นั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะไม่ทำให้เกิดโทษแก่ใครโดยตรง แต่ว่ามันจะเกิดอยู่นานกว่าจะดับ
"โทสะ" นั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะทำร้ายผู้อื่นได้จึงมีโทษมากแต่ว่าจะโกรธอยู่ไม่นานก็ดับ
"โมหะ" นั้นเป็นตัวความโง่เซ่อ ไม่รู้แจ้งเห็นจริง จึงทำอะไรๆผิดพลาดไม่ถูกต้อง ซึ่งจะมีโทษมากและแถมยังทำให้หายโง่ได้ยากมากอีกด้วย
ปัจจัยที่ทำให้เกิดราคะ ก็คือ "สุภะนิมิต" สิ่งที่แสดงว่าสวยงามน่ารัก ที่สามารถละได้ด้วย "อสุภะนิมิต" สิ่งที่แสดงว่าน่าเกลียดไม่สวยงาม
ปัจจัยของโทสะ ก็คือ "ปฏิฆะ นิมิต" สิ่งที่แสดงให้รู้สึกว่าไม่น่าพอใจ ที่สามารถบรรเทาได้ด้วย "เมตตาเจโตวิมุตติ" การเพ่งความหลุดพ้นแห่งจิตด้วยพลังแห่งเมตตาอย่างแรงกล้า
ปัจจัยของโมหะ คือ "อโยนิโสมนสิการ" การกระทำในใจโดยไม่แยบคาย ที่จะถอนได้ด้วย "โยนิโสมนสิการ" การกระทำในใจโดยแยบคาย หรือการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ
*๔.เหตุภายในกับเหตุภายนอก...การที่จะเจริญอริยมรรคให้ประสบผลได้เร็วนั้นจะต้องประกอบด้วยเหตุ ๒ ประการอันได้แก่
๑.โยนิโสมนสิการ การพิจารณาถึงต้นเหตุ
๒.กัลยาณมิตร การมีมิตรที่ดีงาม
"โยนิโส มนสิการ" การพิจารณาโดยแยบคาย ซึ่งก็หมายถึง การพิจารณาถึงต้นเหตุและปัจจัยของมันอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งก็คือ การเจริญวิปัสสนานั่นเอง
"กัลยาณมิตร" เพื่อนที่ดี ที่มีความเห็นตรงกันและมีศีลเสมอกัน ซึ่งพระพุทธองค์ทรงสอนว่า “การมีกัลยาณมิตรนี้ จัดว่าเท่ากับเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์เลยทีเดียว” เพราะ เมื่อเราคบเพื่อนที่ดี ที่มุ่งมั่นในการประพฤติพรหมจรรย์ เราก็จะมีกำลังใจและมีผู้ช่วยแก้ปัญหาในการประพฤติพรหมจรรย์ไปด้วย อันจะส่งผลให้ประสบผลได้เร็ว แต่ถ้าเราไม่มีเพื่อนที่ดีเช่นนี้ พระพุทธองค์ทรงสอน ให้เรามีธรรมะเป็นเพื่อนและเที่ยวไปแต่ผู้เดียว
*๕. บุคคลผู้ควรประกอบความเพียร...ผู้ที่จะปฏิบัติอริยมรรคให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น จะต้องมีคุณสมบัติตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดังนี้
๑.เป็น ผู้มีศรัทธา ย่อมเชื่อความตรัสรู้ของตถาคตว่า “แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนควรฝึก อย่างไม่มีใครยิ่งไปกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรมสอนสัตว์ " ดังนี้
๒.เป็น ผู้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย มีไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารที่ย่อยได้สม่ำเสมอ ปานกลาง ไม่ร้อนเกิน ไม่เย็นเกิน พอควรแก่การบำเพ็ญเพียร
๓.เป็น ผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา เป็นผู้เปิดเผยตนเองตามที่เป็นจริงในพระศาสดา หรือเพื่อนสพรหมจารี ( ผู้ที่ประพฤติพรหมจรรย์ด้วยกัน) ผู้รู้ทั้งหลายก็ตาม
๔.เป็น ผู้ปรารภความเพียร เพื่อละสิ่งอันเป็นอกุศล เพื่อถึงพร้อมด้วยสิ่งอันเป็นกุศล มีกำลัง มีความบากบั่น หนักแน่น ไม่ทอดทิ้งธุระในสิ่งทั้งหลายอันเป็นกุศล
๕.เป็น ผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งสามารถกำหนดความเกิดขึ้นและความดับหายไป เป็นปัญญาอันประเสริฐ เป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส เป็นเครื่องให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
สรุปว่า เราจะต้องมีศรัทธาในพระพุทธเจ้า ต้องมีสุขภาพดี ต้องไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา และต้องมีใจฝักใฝ่ในการทำความเพียร รวมทั้งที่สำคัญ ต้องมีความสามารถกำหนดรู้การเกิดและดับได้ เราจึงจะปฏิบัติอริยมรรคได้สำเร็จ ถ้ายังขาดสิ่งใดไปก็ควรเพิ่มเติมสิ่งนั้นขึ้นมาให้ครบ
*๖.บทอธิฐานจิตเพื่อทำความเพียร
ในการเจริญอริยมรรคนี้ก็ย่อมจะมีมาร (ความรู้สึกฝ่ายต่ำ) มาชักชวนให้ละความเพียรอยู่เสมอ แม้แต่พระพุทธองค์ก็ยังทรงผจญกับมารมาแล้วเมื่อก่อนตรัสรู้ แต่ก็ได้ทรงอธิฐานจิตจนชนะมาร และได้ทรงชี้ชวนให้สาวกมีการอธิฐานจิตตามพระองค์บ้าง ด้วยการตั้งจิตอธิฐานว่า “...ภิกษุ ทั้งหลาย ถ้าแม้พวกเธอ พึงตั้งไว้ซึ่งความเพียรอันไม่ถอยกลับ (ด้วยการอธิฐานว่า) “จงเหลืออยู่แต่หนัง เอ็น กระดูกเท่านั้น เนื้อและเลือดในสรีระจงเหือดแห้งไป ประโยชน์อันใด อันบุคคลจะบรรลุได้ด้วยกำลัง ด้วยความเพียร ด้วยความบากบั่นของบุรุษ ถ้ายังไม่บรรลุประโยชน์นั้นแล้ว จักหยุดความเพียรเสีย เป็นไม่มี” ดังนี้แล้วไซร้ ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอก็จักกระทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์ อันไม่มีอะไรยิ่งกว่า อันเป็นประโยชน์ที่ต้องการของกุลบุตรผู้ออกบวชจากเรือน เป็นผู้ไม่มีเรือนโดยชอบ ได้ต่อกาลไม่นานในทิฏฐธรรม (ปัจจุบัน) เข้าถึงแล้วแลอยู่เป็นแน่นอน”
ที่มา...วัดเขาไกรลาศ จังหวัดสุพรรณบุรี