การเอารูปมาใช้ในเว็บไซต์น่ากลัวกว่าที่คิด!

เขียนโดย 


การเอารูปมาใช้ในเว็บไซต์น่ากลัวกว่าที่ทุกคนคิดกันไว้เยอะครับ เมื่อก่อนเราทำงานส่งครู แค่ Copy รูปจากกูเกิ้ล แล้วเขียนในรายงานว่า “ขอบคุณรูปภาพจาก Google” ก็เสร็จแล้ว แต่ในการทำงานจริง ๆ อาจทำให้เราเสียเงินหลายแสนได้เลยครับทำไมเราต้องสนใจเรื่องลิขสิทธิ์รูปด้วย

จาก Case Study ของบริษัทไทยบริษัทหนึ่ง ที่ใช้รูปจาก Google เล็ก ๆ นิดเดียว แล้วโดนฟ้องจากเว็บไซต์ขายรูปรายใหญ่ของต่างประเทศ Getty Image เป็นเงิน 8 แสนบาท จนเกือบทำให้บริษัทเจ๊งไป ก็น่าจะทำให้บริษัทไทยหลาย ๆ บริษัทตระหนักถึงเรื่องลิขสิทธิ์รูปมากขึ้น

จะเห็นว่าพวกลิขสิทธิ์ของรูปก็ฟ้องกันโหดไม่ต่างกับ การใช้ Font ในเว็บไซต์ สัก เท่าไร วันนี้ผมก็มีบทความดี ๆ เกี่ยวกับลิขสิทธิ์รูปในเว็บไซต์มาให้อ่านกันครับ เรื่องนี้สำคัญกับคนทำเว็บไซต์ทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟรีแลนซ์ ที่บางทีลูกค้าหารูปมาจากไหนไม่รู้ แล้วเราโดนฟ้องแทนครับ

บทความนี้เรียบเรียงมาจากบทความ Copyright 101: The 10 Things to know about Imagery ของเว็บไซต์ Sitepoint ครับ ท่านใดถนัดอ่านภาษาอังกฤษก็สามารถแวะเข้าไปที่บทความต้นฉบับได้เลยครับผม

10 ข้อที่ทุกคนต้องรู้เกี่ยวกับลิขสิทธิ์รูปภาพในเว็บไซต์

ข้อ 1 : “ลิขสิทธิ์” คืออะไร

ความคุ้มครองทางกฏหมายที่คุ้มครองผู้สร้างเนื้อหา (รูป, เพลง, วีดิโอ, งานเขียน etc.) จากการถูกผู้อื่นนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ข้อ 2 : ลิขสิทธิ์จะได้มาตอนไหน

ตั้งแต่วินาทีที่เนื้อหาถูกสร้างขึ้นมาก็ได้รับการคุ้มครองด้านลิขสิทธิ์แล้ว โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนตามกฏหมายก็ได้

ข้อ 3 : มีกฏหมายการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่ใช้ได้ทั่วโลกมั้ย

ไม่มี แต่ละประเทศมีกฏหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่แตกต่างกัน กฏหมายบางประเทศอาจจะสนับสนุนกับกฏหมายอีกประเทศได้ แต่สิ่งที่เหมือนกันทุกประเทศมีอยู่อย่างหนึ่งคือ : ถ้าคุณไม่ใช่เจ้าของลิขสิทธิ์ คุณเอาเนื้อหานั้นไปใช้ไม่ได้

ข้อ 4 : ถ้าเราไม่รู้เรื่องกฏหมายลิขสิทธิ์เลย แล้วโดนฟ้อง ถือว่าผิดมั้ย

อันนี้ไม่ใช่ข้ออ้างครับ ถึงแม้เราจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็มีความผิดทางกฏหมายอยู่ดี

ข้อ 5 : ใครจะเป็นคนรับผิดชอบเมื่อมีการละเมิดลิขสิทธิ์ในเว็บไซต์

เจ้าของเว็บไซต์เป็นผู้รับผิดชอบ ถึงแม้ว่าเขาจะจ้างคนอื่นมาทำเว็บไซต์ให้ เจ้าของเว็บไซต์ก็จะเป็นคนแรกที่ต้องรับผิดชอบเมื่อมีการละเมิดลิขสิทธิ์ อย่างไรก็ตาม ถ้าการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดจากตัวคนทำเว็บไซต์ เจ้าของเว็บไซต์ก็โยนความผิดไปที่คนทำเว็บไซต์ได้

ประเภทเนื้อหาที่กฏหมายไทยครอบคลุม มีดังนี้ (เรียบเรียงมาจากเว็บไซต์ Thailawonline) งานเขียน (หนังสือ, สิ่งพิมพ์, คำบรรยาย, โปรแกรมคอมพิวเตอร์? ฯลฯ)งานศิลปะ (ภาพวาด, รูปถ่าย, กราฟฟิก ฯลฯ)งานเสียงงานภาพยนต์ (รวมถึง การถ่ายทอดต่าง ๆ)งานแสดง (ผมสรุปมาจากที่อ่านร่างกฏหมายคร่าว ๆ ในเว็บไซต์อีกทีนะครับผม ซึ่งท่านใดมีความรู้ที่ถูกต้องกว่าสามารถแจ้งได้ครับ และท่านที่ต้องการความถูกต้อง 100% ทางกฏหมายแนะนำให้ปรึกษานักกฏหมายครับ)

ข้อ 6 : ในการทำเว็บไซต์ สิ่งที่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์คืออะไรบ้าง

นำเนื้อหาจากเว็บไซต์ผู้อื่นมาลงในเว็บไซต์ตัวเอง โดยคุณสามารถอ้างอิงเป็นย่อหน้า / ประโยคได้ ถ้าคุณให้เครดิตคนเขียนต้นฉบับ และมีลิงค์ไปยังบทความต้นฉบับนำเนื้อหาในสิ่งพิมพ์ออนไลน์ของผู้อื่น เช่น อีเมล มาลงในเว็บไซต์โดยไม่ได้รับอนุญาตForward อีเมลของคนอื่นให้อีกคน โดยไม่ได้รับอนุญาตแก้ไขเนื้อหาของผู้อื่น ซึ่งเปลี่ยนความหมายไปจากเดิมข้อนี้สำคัญที่สุดครับ การนำโลโก้, ไอคอน, รูป, วีดิโอ, เสียง จากเว็บไซต์อื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ข้อ 7 : ประเภทลิขสิทธิ์ที่เจอบ่อย ๆ มีอะไรบ้าง

Freeware – นำไปใช้ได้ฟรี และนำไปแชร์ต่อได้ แต่ไม่สามารถแก้ไขหรือเอาไปขายต่อได้โดยไม่ได้รับอนุญาตShareware – นำไปใช้ได้ฟรี แต่ถ้าจะใช้ในระยะยาวต้องบริจาคเงิน สามารถนำไปแชร์ได้แต่ต้องให้เครดิตทุกครั้งโดยไม่ต้องขออนุญาตFair Use – สามารถนำไปใช้ได้เพื่อการศึกษาและเขียนวิจารณ์ โดยไม่ต้องขออนุญาตCreative Commons – นำไปใช้ได้ฟรี แต่ต้องอยู่ในกฏที่ลิขสิทธิ์กำหนดไว้ คุณต้องให้เครดิตเจ้าของเนื้อหาทุกครั้ง โดยเจ้าของเนื้อหาเป็นผู้กำหนดว่า อนุญาตให้แก้ไขมั้ย, บังคับให้คุณเอางานไปแก้แล้วต้องเป็นลิขสิทธิ์ Creative Commons เหมือนกันมั้ย, อนุญาตให้ใช้ในงานค้าขายมั้ยPublic Domain – ลิขสิทธิ์ที่เราสามารถนำไปใช้ได้ฟรี โดยไม่ต้องขออนุญาต ครอบคลุมเนื้อหาพวกเรื่องที่เป็นความจริง (เช่น โลกเป็นทรงกลม / ทะเลสีฟ้า) , ไอเดีย, ขั้นตอนการทำงาน และยังครอบคลุมงานที่ลิขสิทธิ์หมดอายุไปแล้วด้วย (เช่น นิยายที่เก่ามาก ๆ)

ข้อ 8 : ถ้ากฏหมายมันยุ่งยากขนาดนี้ แล้วเราจะทำเว็บไซต์ที่มีรูปสวย ๆ ในเว็บไซต์ได้ยังไง

มีหลายทางมากครับ มาดูกันว่าทำยังไงได้บ้าง

A) สร้างมันขึ้นมาเองเลย

เราทำกราฟฟิกเอง ถ่ายรูปเอง เขียนบทความเอง มันก็เป็นของเรา 100% ตามกฏหมายครับ นอกจากนั้นเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีก็ช่วยให้เราทำเนื้อหาคุณภาพดีได้ง่ายขึ้น มีโปรแกรมทำกราฟฟิก โปรแกรมตกแต่งภาพที่สะดวกขึ้น ทำให้การทำเนื้อหาขึ้นมาเองไม่ยากจนเกินไป

หรือถ้าทำไม่เป็น ก็มีหนังสือสอนมากมาย รวมถึงเนื้อหาฟรีบนอินเตอร์เน็ตที่จะช่วยให้เราเก่งขึ้นมาได้ นอกจากนั้นในระยะยาวเรายังสามารถขายรูปถ่ายของเราให้กับคนอื่นที่ไม่สนใจจะ ทำเองได้อีกด้วย

B) ถ้าคุณเป็นฟรีแลนซ์ ลองให้เวลาตัวเองเดือนละ 1 วันมาถ่ายรูป

หาวันว่าง ๆ สักวันมาถ่ายรูปที่ต้องใช้บ่อย ๆ เช่น เครื่องคิดเลข, โทรศัพท์, มือถือ, ลำโพง, คนจับมือ, เงิน ฯลฯ รับรองว่าจะช่วยเบาเงิน และเบาแรงคุณในอนาคตได้อีกเยอะ

รูปพวกนี้คนส่วนใหญ่มักจะซื้อจากในเว็บไซต์ขายรูปกัน ถ่ายเสร็จก็เอาไปขายได้นะครับ

C) ติดต่อช่างถ่ายรูปโดยตรง

คุณสามารถติดต่อกับช่างถ่ายภาพเพื่อขอรูปเค้ามาใช้ในเว็บไซต์ได้ครับ โดยแลกเปลี่ยนกับการให้เครดิตรูปเพื่อช่วยเผยแพร่เจ้าของผลงาน ซึ่งมีคนถ่ายรูปสวย ๆ ทั้งบน Instagram และเว็บไซต์ DeviantArt ที่จะอยากนำผลงานมาลงในเว็บไซต์ของคุณแลกกับเครดิต

D) ซื้อจากเว็บไซต์ขายรูป (Stock Photo)

อันนี้เป็นทางออกที่หลาย ๆ บริษัทเลือกใช้กันครับ เป็นการซื้อรูปมาจากเว็บไซต์ขายรูป ซึ่งจะทำให้เราสามารถเอารูปเหล่านั้นไปใช้บนเว็บไซต์ได้อย่างถูกกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เราก็ยังมีโอกาสโดนฟ้องได้ ถ้าเว็บไซต์ที่เราซื้อรูปมาไม่ได้เอารูปนั้นมาขายอย่างถูกกฏหมาย

ถ้าลองไปค้นดูจะพบว่ามีกรณีที่เว็บไซต์ขายรูปชื่อดัง อย่าง Getty Images หรือ Corbis โดนฟ้องจากเจ้าของรูปที่ไม่เคยเอารูปมาขาย แต่รูปกลับมาโผล่ในเว็บไซต์ให้คนอื่นเข้ามาซื้อได้

ข้อ 9 : ขนาดเว็บขายรูปยังมีปัญหาขนาดนี้ แล้วเราจะเชื่อใครดี ?
จริง ๆ ถ้าจะบอกว่าอย่าเชื่อใครเลยก็ไม่ผิด แต่เราอาจมีโอกาสรอดมากขึ้นโดยทำสิ่งเหล่านี้ทุกครั้งที่มีการซื้อขายรูป:เก็บใบเสร็จ และใบเสนอราคาไว้ให้ดีถ่ายภาพหน้าจอของ Terms of use, ข้อมูลลิขสิทธิ์, และเนื้อหาต่าง ๆ ที่บอกว่ารูปนี้มีลิขสิทธิ์แบบ “Royalty Free (ในไปใช้ทางการค้าได้)”

อย่าลืมว่าแม้แต่เว็บแจกรูปฟรี ที่บอกว่ารูปพวกนี้เป็น Public Domain เอาไปใช้ยังไงก็ได้ ก็ยังมีโอกาสที่เค้าจะไปเอารูปจากเว็บขายรูปมาลง ซึ่งทำให้เราโดนฟ้องได้ เพราะฉะนั้นเวลาเจอรูปสวย ๆ ที่ฟรี หรือราคาถูกมาก ๆ ให้ระวังตัวกันไว้ให้ดีครับ

ข้อ 10 : เรื่องสุดท้ายที่เราควรคำนึงถึงตอนทำเว็บไซต์

ระวังการใช้รูปถ่ายที่แถมมากับ Template เว็บไซต์ไว้ให้ดีครับ เพราะถึงคุณจะจ่ายเงินซื้อ Template มาใช้ สิ่งที่คุณซื้อคือ Code กับ Layout ของเว็บไซต์ ไม่ได้ซื้อรูป ลิขสิทธิ์ของรูปพวกนี้จะไม่ได้ให้กับคุณ หรือเว็บไซต์ใหม่ที่คุณจะสร้าง โดยส่วนใหญ่ลิขสิทธิ์รูปจะให้กับ “คนที่สร้าง Template” คนเดียวเท่านั้น และถูกใช้เพื่อสาธิตการวางเนื้อหาลงใน Template เท่านั้น

อ่านมาถึงตรงนี้คุณอาจจะรู้สึกว่าการนำรูปถ่ายมาใช้ในเว็บไซต์นี่ยากเหลือเกิน ผมก็ขอสรุปเทคนิคการนำภาพมาใช้แบบสั้น ๆ ครับ: พยายามถ่ายรูปเอง หรือให้คนรู้จักถ่าย แต่ถ้าทำไม่ได้จริง ๆ ก็ให้เช็คดี ๆ ว่าภาพจากที่ใด ๆ ที่นำมาใช้มีลิขสิทธิ์เป็นลายลักษณ์อักษร แม้แต่ Google Image ที่เดี๋ยวนี้ค้นหารูปแบบ Creative Commons ได้แล้ว ทางกูเกิ้ลเองก็ยังบอกว่า “เราไม่ได้การันตีว่ารูปเหล่านี้จะเป็น Public Domain จริง ๆ หรือเป็นลิขสิทธิ์อื่น”

ขอบคุณที่มา...http://www.designil.com/image-photo-license-101.html