ด้านวรรณกรรม

เขียนโดย 

4. พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล)

เป็นผู้ทรงคุณวุฒิถึงขั้น "ปราชญ์" คนหนึ่ง ท่านเชี่ยวชาญภาษาไทยอย่างเอกอุ มีส่วนร่วมในการชำระวรรณคดีสำคัญของไทยหลายเรื่อง เช่น เรื่องพระอภัยมณี เป็นผู้ที่พระยาอนุมานราชธนยกย่องว่า "สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงไว้พระทัยและโปรดปรานมาก ยังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริสศรานุวัติวงศ์ อีกพระองค์หนึ่ง ก็ทรงโปรดปรานในความรู้ของพระพินิจวรรณการ"

ทรง สาลิตุล บุตรชายของท่านเป็นนักเขียนเรื่องสั้น รุ่นบุกเบิกของไทย เลื่องลือในเรื่องความประณีตของภาษาและอารมณ์ ชิต บุรทัต แม้ไม่ได้เกิดที่สุพรรณบุรี แต่ก็มีบิดาเป็นชาวสุพรรณ และเคยมาเป็นครูอยู่ที่วัดวรจันทร์ ท่านผู้นี้เป็นเอกในเชิงฉันท์ เช่นเดียวกับที่สุนทรภู่เป็นเอกในเชิงกลอน ได้รับเชิญเข้าแต่งฉันท์สมโภชในพระราชพิธีบรมราชาภิเศกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะมีอายุเพียง 18 ปี เรื่องสามัคคีเภทคำฉันท์ของท่านยังเป็นที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน ชั้นเชิงกวีนิพนธ์ประเภทอื่นไม่ว่าจะเป็นโคลง กลอน กาพย์ ร่ายก็ล้วนดีเยี่ยม นักเขียนชาวสุพรรณที่โด่งดังอยู่ในปัจจุบันได้แก่ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ผู้คว้ารางวัลซีไรท์จากเรื่องสั้นชุด "ซอยเดียวกัน" อีกท่านหนึ่งได้แก่ ศิวกานท์ ปทุมสูติ ผู้มีชื่อเสียงในด้านร้อยกรอง

ทางด้านจิตรกรรม ในอดีตเมืองสุพรรณบุรี จิตรกรพื้นบ้านในยุครัชกาลที่ 4-5 แม้จะไม่ปรากฎชื่อเสียงออกไปในวงกว้าง แต่ฝีมือซึ่งปรากฎในจิตกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดประตูสารนั้นเป็นชั้นเยี่ยมยอด ไม่แพ้จิตกรผู้มีชื่อเสียงของจังหวัดอื่น ใกล้เข้ามาในยุคปัจจุบัน ครูสง่า มยุระ ได้รับเกียรติว่าเป็นจิตรกรชั้นครูคนหนึ่งของเมืองไทย ได้ฝากฝีมือไว้ที่ระเบียงวัดพระแก้วและที่อื่นๆ อีกหลายแห่งพู่กันสง่า มยุระ ที่ท่านทำจำหน่ายมีชื่อเสียง ได้รับความนิยมไปทั่วไประเทศไทย

ประวัติโดยสังเขป พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล)
โดยนายวิสาข์ สาลิตุล บุตรของพระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล)

นามสกุลพระราชทาน "สาลิตุล" บอกว่า ขุนพินิจวรรณการ (แสง) ทวดชื่อชู ปู่ชื่อหลวงนาสาลี
๑. ที่ว่า ขุน นั้น คงได้รับพระราชทานตอนเป็นขุน ต่อมาเป็น หลวง และเป็นพระพินิจวรรณการ
๒. มหาแสง สาลิตุล ป.๖ สำนักวัดระฆัง มีฝีมือในด้านวรรณการมาก เชี่ยวชาญในบาลีสันสกฤษ เป็นชาวอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ตำบลบางพลับ
๓. หลวงนาสาลี ปรากฏในชื่อของ เนียม เชื้อสายตระกูล บุนนาค ทางเพชรบุรี แต่หลวงนาท่านนี้ มีชื่อว่าอะไร และดูท่าจะเป็นชาวสองพี่น้อง
๔. มีลำดับตระกูลปรากฏชื่อหลวงนา ว่าดังนี้ ขุนศรีสงคราม และอำแดงทรัพย์ มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน คือ ๑. หลวงนา ๒.นางบุญนาค ๓.นางทองสุข (โสด) ๔.นางสำฤทธิ์หรือสมฤทธิ์ ๕.ขุนเกษตร (จีน) ซึ่งแต่งงานกับคนสะใภ้บ้านยอด อำเภอบางปลาม้า

พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) เกิดในราว พ.ศ. ๒๔๒๘ เป็นบุตรของนายคุ้ม นางแพ เป็นหลานของหลวงนาสาลี หลวงนาสาลีนี้ท่านมีหน้าที่เก็บภาษีข้าว เข้าท้องพระคลังของทางราชการ  พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ดังนี้
๑. คนหัวปี จำชื่อไม่ได้ ถึงแก่กรรม
๒. นายฉัตร ถึงแก่กรรม
๓. นายปริก ถึงแก่กรรม
๓. พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) ถึงแก่กรรม
๕. นางชั้น ถึงแก่กรรม
๖. นางเชิง ถึงแก่กรรม

บ้านเกิดของพระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) ท่านเกิดที่บ้านท้ายบ้าน ตำบลต้นตาล อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อท่านอายุได้ ๑๓ ปี ได้ไปบวชเป็นสามเณรที่วัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพฯ ได้เล่าเรียนบาลีสันสกฤต ได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค ต่อมาก็ได้อุปสมบทอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม จนอายุได้ ๒๙ จึงได้สึกมาประกอบอาชีพเป็นเสมียน ทำงานรับราชการเรื่อยมา และได้เลื่อนยศตำแหน่งเรื่อยๆ มาจากบรรดาศักดิ์ ขุนพินิจวรรณการ หลวงพินิจวรรณการ และพระพินิจวรรณการ ตามลำดับ

ท่านเคยเป็นข้าราชบริพารขององค์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ และท่านทำงานขยันขันแข็ง รวดเร็ว ถูกต้อง จนเป็นที่โปรดปรานขององค์สมเด็จฯ เป็นอย่างยิ่ง ชีวิตราชการของท่านสิ้นสุดลง เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง องค์สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพหมดพระอำนาจ พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) ได้ลาออกจากราชการ โดยให้เหตุผลว่า ไม่อยากเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย แต่ต่อมาท่านพระยาอนุมานราชธน (ยง อนุมานราชธน) อ.ด.(เกียรติศักดิ์) ได้มาชักชวนให้มาช่วยงานหอพระสมุด จนถึง พ.ศ.๒๔๘๑ จึงได้ขอลาออกมาอยู่ที่อำเภอสองพี่น้อง ที่บ้านกระบอก ตำบลหัวโพธิ์ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี และได้ถึงแก่กรรมเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๖ ด้วยโรคมะเร็งในลำคอ รวมอายุได้ ๕๘ ปี

ชีวิตครอบครัว

พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) นับว่าท่านเป็นต้นตระกูล "สาลิตุล" โดยแท้จริง ในรัชสมัยขององค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้กำหนดให้คนไทยทุกคนต้องใช้นามสกุลต่อท้ายชื่อ พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) ได้นามสกุลพระราชทานว่า "สาลิตุล" เมื่อครั้งดำรงบรรดาศักดิ์ว่าที่ "ขุนพินิจวรรณการ"

พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) ผ่านชีวิตการครองเรือนไม่ราบรื่นนัก ท่านมีภรรยา ๓ คน แต่มิได้มีในคราวเดียวกัน ภรรยาคนแรกชื่อฟูเกียรติ มีบุตรด้วยกัน ๕ คน ดังนี้

๑. ด.ช.สิน สาลิตุล ถึงแก่กรรม
๒. นายทรง สาลิตุล ถึงแก่กรรม
๓. นายวุฒิวรรณ สาลิตุล (พ่อของเดือนเต็ม สาลิตุล ดารานักแสดง) ถึงแก่กรรม
๔. ร.ต.อ.วิชัย สาลิตุล ถึงแก่กรรม
๕. ร.ต.ท.จรัล สาลิตุล ถึงแก่กรรม (ในเว็บนี้ เขียนเป็น จรันทร์)

ภรรยาคนที่ ๒ ชื่อ จง เป็นคนอำเภอสองพี่น้องเหมือนกัน เลิกร้างกัน ทราบข่าวว่ามีบุตรชาย เคยมาเป็นประมงอยู่ที่อำเภอดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี คงเกษียณอายุไปนานแล้ว (เพราะนับศักดิ์ต้องอายุมากกว่าข้าพเจ้า นายวิสาข์ สาลิตุล ผู้เล่าเรื่อง ด้วยข้าพเจ้าเองปัจจุบันอายุ ๗๒ ปี เกษียณอายุมา ๑๒ ปีแล้ว) ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ข้าพเจ้าไม่ทราบได้ เพราะไม่เคยเห็นหน้ากันเลยตั้งแต่เกิดมา

ภรรยาคนที่ ๓ ของพระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) บ้านอยู่บ้านกระบอก ตำบลหัวโพธิ์ ชื่อ ผ่อน เป็นมารดาของข้าพเจ้าผู้เล่าเรื่อง เป็นชาวสองพี่น้องเหมือนกัน ได้อยู่กินกันมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตพระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) มีบุตร-บุตรีด้วยกันรวม ๓ คน ดังนี้
๑. นางสุผล สาลิตุล ยังมีชีวิตอยู่
๒. นายวิสาข์ สาลิตุล ผู้เล่าเรื่อง ยังมีชีวิตอยู่
๓. ด.ช.ปิ๋ว สาลิตุล ถึงแก่กรรม

แหล่งข้อมูลของ "นายวิสาข์ สาลิตุล" เดิมอยู่บ้านกระบอก ปัจจุบันย้ายไปอยู่ที่ดอนตูม นครปฐม
"เรื่องที่ข้าพเจ้าเขียนนี้ ข้าพเจ้าได้รับการบอกเล่าจากคุณแม่ผ่อน สาลิตุล มารดาของข้าพเจ้า (นายวิสาข์ สาลิตุล) เอง ...
พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ภมรพล) วันพฤหัสบดี, 25 มีนาคม 2010 @หลวงนาสาลี  http://www.geni.com/discussions/72219
.....................................................................................................................................................................
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก..หนังสือ "ช้างป่าต้น คนสุพรรณ"
อ้างอิงส่วนประวัติโดยสังเขป...พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ภมรพล)  http://www.geni.com/discussions/72219
ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ วัน, วันที่ เดือน ปี ชม:นาที