โดยผลการศึกษาที่เผยแพร่ผ่านซีเอ็นเอ็นระบุว่า หิ้งน้ำแข็ง "ลาร์เซน บี" ซึ่งเป็นหิ้งน้ำแข็งที่มีความหนาและอยู่มายาวนานเป็นหมื่นปี กำลังค่อยๆ แตกและละลายไปเรื่อยๆ และคาดว่าจะละลายไปจนหมดภายในทศวรรษนี้
"หิ้งน้ำแข็ง" อันเป็นส่วนของแผ่นน้ำแข็งที่ยื่นต่อออกมาจากแนวธารน้ำแข็งและทำหน้าที่ เหมือนกับเป็นแนวป้องกันให้กับธารน้ำแข็งไปในตัวการหายไปของหิ้งน้ำแข็งนี้ ย่อมหมายถึงความเป็นไปได้ที่ธารน้ำแข็งจะหายไปเร็วยิ่งขึ้น และส่งผลให้ระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้นตามมา
ทั้งนี้ ทีมวิจัยที่นำโดย อลา คาเซนดาร์ นักวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการเจ็ท โพรพัลชั่น ของนาซา ที่เมืองพาซาเดนา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พบหลักฐานที่ว่าแผ่นน้ำแข็งกำลังละลายไหลในอัตราเร็วมากขึ้น จนก่อให้เกิดการแตกเป็นชิ้นมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าส่วนที่เหลือของหิ้งน้ำแข็งกำลังแตกเพิ่มตามมา
หิ้งน้ำแข็งลาร์เซน บี มีอายุยาวนานราว 10,000 ปี จากการสำรวจเมื่อเดือนมกราคม 2538 มีพื้นที่ทั้งหมด 11,512 ตารางกิโลเมตร แต่ลดลงเหลือ 6,664 ตารางกิโลเมตร ในเดือนกุมภาพันธ์ 2545 หลังเกิดการแตกครั้งใหญ่ และในอีก 1 เดือนถัดมาก็เหลือพื้นที่เพียง 3,432 ตารางกิโลเมตร
ปัจจุบัน "ลาร์เซน บี" เหลือพื้นที่อยู่ราว 1,600 ตารางกิโลเมตร น้อยกว่ารัฐโรดไอส์แลนด์ รัฐที่เล็กที่สุดของสหรัฐอเมริกาแล้ว
ที่มา : นสพ.มติชนรายวัน /20 พ.ค. 2558