หลักฐานเกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าวในสมัยแรกเริ่มของไทย

เขียนโดย 


จากการขุดค้นทางโบราณคดี ในประเทศไทยนั้น พบหลักฐานเกี่ยวกับการเพาะปลูกข้าว ระหว่าง ๕,๕๐๐ ปีมาแล้ว โดยในสมัยนั้นประชากรบางกลุ่มได้เริ่มทำการเพาะปลูกข้าว และทำการเลี้ยงสัตว์บางชนิด เช่น วัว หมู และไก่ อย่างไรก็ตามแม้ว่าสังคมในสมัยนี้จะสามารถจัดได้ว่าเป็นสังคมผลิตอาหารเองแล้ว แต่ก็มีหลักฐานว่าการล่าสัตว์ป่าและเก็บพืชพันธุ์มาเป็นอาหารควบคู่ไปกับอาหารที่ผลิตได้เองคงเป็นแบบแผนการดำรงชีวิตหลักที่แท้จริงของคนในช่วงสมัยนี้

หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงถึงการเพาะปลูกข้าว และการเลี้ยงสัตว์ (อย่างน้อยก็มีวัวและหมู) ในประเทศไทยเมื่อราว ๔,๐๐๐ กว่าปีมาแล้วนั้น ได้มีการค้นพบที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี และที่แหล่งโบราณคดีโนนนกทา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น หลักฐานดังกล่าวนั้น มีทั้งเมล็ดข้าวที่ถูกไฟเผากลายเป็นถ่าน และแกลบข้าวที่ผสมในเนื้อดินที่ใช้ทำภาชนะดินเผา โดยแกลบข้าวนั้นมีผสมอยู่ในประมาณมากและสม่ำเสมอ จนแสดงว่าน่าจะได้มาจากข้าวที่คนจัดการเพาะปลูกดูแลมากกว่าจะเป็นข้าวป่าที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแล้วคนไปเก็บรวบรวมเอามา
วิธีปลูกข้าวในสมัยแรกสุดนั้นอาจทำนาหว่านในลักษณะนาเลื่อนลอยในพื้นที่ลุ่มน้ำขัง จวบจนต่อมา เมื่อราว ๒,๕๐๐ – ๒,๗๐๐ ปีมาแล้ว จึงมาการปลูกข้าวแบบนาดำที่มีการทำคันนาทดน้ำ ส่วนหลักฐานภาพเขียนบนผนังถ้ำหรือผนังหินอายุไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ปี ที่ผาหมอนน้อย บ้านตากุ่ม ตำบลห้วยไผ่ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี บันทึกการปลูกธัญพืชอย่างหนึ่งมีลักษณะเหมือนข้าว ภาพควาย แปลงพืชคล้ายข้าว อาจตีความได้ว่ามนุษย์สมัยนั้นรู้จักข้าวและการเพาะปลูกข้าวกันอย่างกว้างขวางแล้ว

ข้าวในสมัยประวัติศาสตร์ของไทย
ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี แบ่งยุคสมัยแห่งการปลูกข้าวในประเทศไทยออกเป็น
สมัยทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖ มีการปลูกข้าวเหนียวชนิดเมล็ดป้อมและเมล็ดใหญ่
สมัยศรีวิชัย พุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘ มีการปลูกข้าวเหนี่ยวเมล็ดป้อมและข้าวเจ้า
สมัยลพบุรี พุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๙ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อม และเมล็ดใหญ่กับข้าวเจ้า ภาคกลางนิยมปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมมาก และปลูกข้าวเจ้ามากขึ้น
สมัยเชียงแสน พุทธศตวรรษที่ ๑๗ ปลูกข้าเจ้าและข้าวเหนี่ยวทั้งเมล็ดป้อมและเมล็ดยาว แต่ข้าวเจ้ามีน้อยกว่า
สมัยสุโขทัย พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมมาก มีข้าวเหนียวเมล็ดยาวบ้าง เริ่มปลูกข้าวเจ้ามากขึ้น

สมัยอยุธยา พ.ศ.๑๘๙๓-๒๓๑๐ ปลูกข้าวเหนียวเมล็ดป้อมและเมล็ดใหญ่ ปลูกเฉพาะทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้าวเจ้าเมล็ดเรียวปลูกกันมากบริเวณที่ราบภาคกลาง ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของนักวิชาการชาวญี่ปุ่น ที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับแกลบข้าวจากแผ่นอิฐ ในสมัยโบราณของไทย โดยมีความเห็นว่า ข้าวเหนี่ยวเมล็ดป้อมชนิด Japonica มีแหล่งกำเนิดจากทางเหนือผ่านมาทางแม่น้ำโขงแล้วแพร่กระจายสู่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ก่อนพุทธศตวรรษที่ ๒๐ แม้หลังพุทธศตวรรษที่ ๒๐ จะลดจำนวนลงก็ตาม หากมีการปลูกกันต่อมาถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๔
ข้าวเมล็ดเรียวหรือข้าวเจ้าหรือชนิด Indica แพร่ผ่านประเทศอินเดียผ่านชายทะเลในเขตอ่าว เบงกอลมายังเขตลุ่มแม่น้ำอิระวดีแพร่กระจายสู่ประเทศไทยทางตะวันตก ลงสู่บริเวณที่ราบลุ่มตอนใต้ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านไปจนถึงเขตประเทศเขมรลงไปทางภาคใต้ และเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ จนแพร่กระจายไปทั่วแทนข้าวเหนียวที่เคยปลูกอยู่เดิม

เมล็ดข้าวและส่วนประกอบของต้นข้าว
๑. ต้นข้าวเป็นพืชตระกูลหญ้าที่สามารถกินเมล็ดได้ จัดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวสกุล Oryza โดยต้นข้าวจะประกอบไปด้วย รวงข้าว ใบข้าว ลำต้น ราก
๒. เมล็ดข้าว (Rice fruit , Rice grain , Rice seed) หรืออาจเรียกว่า “ผล” ของต้นข้าวซึ่งเป็นผลชนิด Caryopsis เนื่องจากส่วนที่เป็นเมล็ดเดี่ยว (Single seed) ติดแน่นอยู่กับผนังของรังไข่หรือเยื่อหุ้มผล (Pericarp) โดยจะประกอบด้วย ๒ ส่วนใหญ่ๆ คือ แกลบ และข้าวกล้อง

ขั้นตอนการทำนาข้าวในประเทศไทย
๑. การเลือกพันธุ์ข้าว
๒. การเตรียมดิน
๓. การปลูกข้าว
๔. การดูแลรักษา
๕. การเก็บเกี่ยว
๖. การนวดข้าว
๗. การลดความชื้น
๘. การเก็บรักษา
การนวดข้าว : วิธีการนวดข้าวด้วยเครื่องและด้วยแรงงานสัตว์
การสีข้าว : ๑. ขั้นตอนการสีข้าว

๒. รายละเอียดข้างกล้อง , ข้าวซ้อมมือ , ข้าวสาร
พันธุ์ข้าวในประเทศไทย : ชื่อพันธุ์ข้าว ๗๒ พันธุ์และลักษณะเด่นประจำพันธุ์
ชลประทานในนาข้าว : การเก็บกักน้ำ การทกน้ำ การระบายน้ำในนาข้าว

............

ที่มา...พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชาวนาไทย อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
เปิดให้เข้าชม วันพุธถึงวันอาทิตย์ (ปิดวันจันทร์ วันอังคารและวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. โทร. 035-522191

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ วัน, วันที่ เดือน ปี ชม:นาที