นายชัยพร พรหมพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา

เขียนโดย 

"ชาวนาต้องเป็นลูกจ้างตัวเอง ไม่ใช่ผู้จัดการนา"

"ถ้าลดต้นทุนให้น้อยลง จะเหลือกำไรมาก"

นายชัยพร พรหมพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำนา อยู่บ้านเลขที่ 35 หมู่ที่ 1 ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน อำเภอบางปลาม้า สมรสกับคุณวิมล พรหมพันธุ์ บุตรมี 3 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 2 คน รักอาชีพการทำนาเป็นชีวิตจิตใจ ความมั่งคั่งมั่นคงทั้งปวง ได้มาจากการทำนาโดยสุจริต ไม่เอาเปรียบดินไม่เอาเปรียบน้ำ คิดซื่อ ขยันขันแข็ง และมีสองมือหยาบกร้านจากการทำงานหนักเช่นชาวนาทั่ว ๆ ไป โดย ชาวนาโดยส่วนใหญ่คู่กับตำนานยิ่งทำยิ่งจน ทำนาจนเสียนา แต่สำหรับเขา ทำนาบนที่ดินมรดกพ่อ 20 กว่าไร่ กับอีกส่วนหนึ่งเขาเช่าเพิ่มเติม ทำไปทำมาก็ซื้อที่นาเช่ามาเป็นของตัวเอง ปาเข้าไป 100 กว่าไร่ แถมซื้อที่นามาโดยไม่เคยกู้แบงก์ ไม่เคยเป็นลูกค้าขี้ข้าใคร...ใครว่าทำนาแล้วจน...

"ทำนาเคมีมา 20 กว่าไร่ ครั้งแรกปี 2525 ได้ข้าว 13 เกวียน จำได้แม่นเลย ขายได้เกวียนละ 2,000 บาท ขาดทุนยับ พอดูหนทาง เลยไปสมัครเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คิดว่าจะได้เบิกเงินค่าเรียนลูก เพราะมองอนาคตแล้วว่าไม่มีปัญญาส่งลูกแน่ แต่ปี 2531 เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลอาละวาดหนัก แถวบ้านเราโดนกันหมด ก็พอดีอาจารย์เดชา ศิริภัทร ทำเรื่องนาอินทรีย์และใช้สมุนไพร มาขอทำแปลงทดลองปลูกสมุนไพร พ่อก็แบ่งนาให้ 5 ไร่ ด้วยความเกรงใจ อาจารย์ก็เริ่มทดลองใช้สะเดาสู้กับเพลี้ย เครื่องไม้เครื่องมือเยอะ ผมก็ไปช่วยอาจารย์ฉีด ก็ฉีดไปยังงั้น เราไม่ได้ศรัทธาอะไร แต่ปรากฎว่าแปลงนาที่สารเคมีเสียหายหมด ส่วนแปลงนาที่ฉีดสะเดากลับไม่เป็นอะไร.....ไม่จริงหรอก" ชัยพรยืนยันหนักแน่นซ้ำอีก สำคัญตรงที่ต้องทำนาแบบใช้สมอง ไม่ใช่ทำนาแบบเป็นผู้จัดการนาสถานเดียว....

"ทางรอดของชาวนา คือ ต้องลดต้นทุนการผลิต  เพราะเราควบคุมเองได้ แต่ราคาข้าวเรากำหนดเองไม่ได้"

การปฏิบัติตามแนวทางลดต้นทุนการผลิต
3 ลด

- เก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เอง
- ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ละไม่เกิน 15 กิโลกรัม
- แช่เมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยเชื้อราไตรโคเคอร์มา
- ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมกับน้ำหมักชีวภาพ
- ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ร่วมกับน้ำหมักชีวภาพ
- ฉีดฮอร์โมนนมสด และฮอร์โมนไข่
- ใช้เชื้อราไตรโคเคอร์มาป้องกันโรคพืช
- ใช้สารสะเดาป้องกันกำจัดศัตรูพืช
- สำรวจแมลงอย่างสม่ำเสมอ

1 เพิ่ม
- ไม่เผาฟาง หมักฟางด้วยสารชีวภาพ
- หว่านขี้หมูแห้งหลังน้ำลด
- ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ไร่ละ 1 กระสอบ/ปี

2 ปฏิบัติ
- จดบันทึกรายรับ - รายจ่ายจากการทำนา
- ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง ลดรายจ่าย
- อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแปลงนา
- ใช้ระดับน้ำควบคุมวัชพืชและแมลง
- ประดิษฐ์เครื่องไถและตีดินได้พร้อมกัน
- ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร

..................................................................................................

โครงการพัฒนาข้าวสุพรรณปลอดสารเคมีสู่ตลาดอาเซียน (AFC) จังหวัดสุพรรณบุรี
ขอบคุณข้อมูลจาก..สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี กรมส่งเสริมการเกษตร
ขอบคุณภาพและข้อมูลบางส่วนจาก..กระปุกดอทคอม

 

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ วัน, วันที่ เดือน ปี ชม:นาที