"จระเข้สามพัน” สายน้ำแห่งชีวิตเมืองโบราณอู่ทอง ปีนี้วิกฤติหนัก!

เขียนโดย 

จรเข้สามพัน เป็นลำน้ำต่อจากลำน้ำทวน ไหลผ่าน อ. อู่ทอง ไป อ. สองพี่น้อง จ. สุพรรณบุรี ลำน้ำทวน แยกจากแม่น้ำแม่กลองที่ อ. ท่าม่วง ชักน้ำแม่กลองไหลทวนขึ้นทางทิศเหนือ ผ่าน อ. พนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

ไปรวมเป็นลำน้ำจรเข้สามพัน เขต อ. อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ผ่านหน้าเมืองอู่ทองโบราณไปทางทิศตะวันออก แล้วรวมกับลำน้ำท่าว้า-ท่าคอย เป็นลำน้ำสองพี่น้อง ไหลลงแม่น้ำท่าจีน ที่ อ. สองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี

พื้นที่ลุ่มแม่น้ำทวน-จระเข้สามพัน เป็นส่วนหนึ่งของภาคกลางของไทย พบหลักฐานและร่อยรอยการอยู่อาศัยและการทำกิจกรรมต่าง ๆ มากมายของผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่นั้น แม่น้ำทวนเป็นทางน้ำที่แยกจากแม่น้ำแม่กลองที่บริเวณใกล้เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขตอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี แนวของแม่น้ำไหลขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเกือบตรงกันข้ามกับทิศทางไหลของแม่น้ำแม่กลองที่เป็นต้นน้ำของแม่น้ำทวนแม่น้ำจระเข้สามพันกลับผันตัวเองจากแม่น้ำแม่กลองตรงเขตอำเภอท่าม่วง ไหลย้อนทวนสู่ทิศเหนือผ่านเขตอำเภอพนมทวน เขตตำบลรางหวาย ผ่านย่านห้วยยาง ห้วยกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เข้าสู่เขตตำบลจระเข้สามพัน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

ทิศทางการไหลเช่นนี้แตกต่างจากแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ เพราะด้วยเหตุนี้จึงถูกเรียกว่า “แม่น้ำทวน” ช่วงครึ่งท้ายของแม่น้ำสายนี้เรียกว่า “แม่น้ำจระเข้สามพัน” ซึ่ง ไหลขึ้นต่อไปตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จนถึงอำเภออู่ทอง จึงไหลเฉียงลงตามแนวทิศตะวันออกเฉียงใต้ แล้วระบายลงสู่แม่น้ำสุพรรณบุรีหรือแม่น้ำท่าจีน

มีงานวิจัยทางธรณีวิทยาบ่งชี้ว่า เมื่อประมาณไม่น้อยกว่า ๖,๐๐๐ ปีมาแล้ว พื้นที่เมืองโบราณอู่ทองเป็นพื้นที่อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลไม่มากนัก ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลของโลก รวมทั้งอ่าวไทยสมัยโบราณเกิดขึ้นย่อยๆหลายครั้ง และปรากฏแผ่นดินใหม่พร้อมทั้งป่าชายเลนริมฝั่งทะเลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในทางตอนใต้ของที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี ในอดีตยังคงเป็นทะเลอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นระดับน้ำทะเลจึงค่อยๆลดลง พร้อมกับปรากฏแผ่นดินที่ราบลุ่มใหม่ การเปลี่ยนแปลงทำให้ทางน้ำบางสายในบางพื้นที่ของภาคกลางตอนล่างเปลี่ยนทาง เดิน หรือในบางพื้นที่บางตอนเอ่อล้นลงสู่พื้นที่ต่ำด้านข้างตลิ่ง ก่อให้เกิดทางน้ำสาขาสายใหม่เกิดขึ้น

ชุมชนโบราณอู่ทอง เกิดขึ้นช่วงก่อนเริ่มปรากฏวัฒนธรรมในพุทธศาสนายุคแรก คนสมัยนั้นนิยมศิลปะแบบทวารวดี พบโบราณวัตถุกระจายตัวอยู่ริมฝั่งแม่น้ำในปริมณฑลของแม่น้ำทวน-จระเข้สามพัน ตั้งแต่เขตอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี มาจนถึงเขตอำเภอดอนเจดีย์ อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ลักษณะการเลือกทำเลที่ตั้งชุมชนสามารถเดินทางเข้าสู่พื้นที่อยู่ลึกเข้าไปใน แผ่นดินหรือออกไปยังแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำสุพรรณบุรีเพื่อไหลออกสู่ทะเลได้ โดยง่าย เพื่อเข้าถึงเครือข่ายการแลกเปลี่ยนค้าขายระยะไกลโพ้นทะเล เนื่องจากดินแดนอู่ทองนี้ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าโลกโบราณระหว่าง จีน-อินเดีย จากอ่าวเบงกอลมาขึ้นบกที่เมาะตะมะ ผ่านมะริด ทวาย เข้าประเทศไทยที่ด่านเจดีย์สามองค์ ผ่านชุมชนโบราณลุ่มแม่น้ำแม่กลองมายังลำน้ำจระเข้สามพัน แล้วออกสู่อ่าวไทยที่แม่น้ำนครชัยศรี

ขอบคุณภาพโดย..ภาคภูมิ จิตต์โสภณ

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ วัน, วันที่ เดือน ปี ชม:นาที