ประพันธ์โดย...สมพงศ์ ชูสุวรรณ
๑๘ มกราคม ๒๕๕๗
พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ อยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพระคชาธารออกศึก และมีองค์เจดีย์ยุทธหัตถี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างเจดีย์เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามยุทธหัตถีที่ทรงมีต่อพระมหาอุปราชาแห่งพม่า เมื่อปี พ.ศ.2134 และในปี พ.ศ.2495เจดีย์ยุทธหัตถี เป็นเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรรับสั่งให้สร้างขึ้นตรงที่กระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เมื่อวันจันทร์ เดือนยี่แรม 2 ค่ำ ตรงกับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2135 ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลดอนเจดีย์ ซึ่งเดิมเรียกว่า ตำบลท่าคอย
เจดีย์นี้ถูกค้นพบเมื่อ พ.ศ.2456 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงรับสั่งให้เจ้าเมืองสุพรรณบุรี พระทวีประชาชน (อี้ กรรณสูตร) ค้นหาซากเจดีย์เก่า และก็ได้ค้นพบ เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี และเมื่อค้นพบแล้ว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จไปประกอบพิธีบวงสรวงสมโภช เมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2456 องค์เจดีย์เหลือซากแต่เพียงฐานสี่เหลี่ยม กว้างด้านละ 19.50 เมตร สูงจากพื้นดินถึงส่วนชำรุด 6.50 เมตร รัชกาลที่ 6 จึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรกะงบประมาณในการบูรณะ และตกลงเลือกแบบเจดีย์ยุทธหัตถีที่จังหวัดตาก ซึ่งเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึก ครั้งพ่อขุนรามคำแหงชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ประมาณวงเงินงบประมาณ แล้วจะใช้ประมาณ 192,500 บาท แต่เนื่องด้วยการเงินของประเทศกำลังขาดแคลนมาก
การบูรณะเจดีย์จึงยังไม่ได้ดำเนินการตามพระราชประสงค์ การสร้างอนุสาวรีย์ที่ดอนเจดีย์ได้เริ่มขึ้นใหม่ โดยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเริ่มดำเนินการตั้งกรรมการอนุมัติสร้างอนุสรณ์ดอนเจดีย์ขึ้น เพื่อพิจารณาแบบและการก่อสร้างเมื่อพ.ศ.2495 ซึ่งแบบของเจดีย์ให้เป็นทรงลังกาตามแบบอย่างเจดีย์ใหญ่ที่วัดชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะสันนิษฐานว่าเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคลนี้ สมเด็จพระนเรศวรฯ ได้โปรดเกล้าให้สร้างขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะครั้งนั้นตามคำกราบทูลแนะนำของสมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว เช่นเดียวกับเจดีย์ยุทธหัตถี
การดำเนินการบูรณะเจดีย์ยุทธหัตถี เริ่มเมื่อ พ.ศ.2495 รัฐบาลได้ประกาศขอความร่วมมือจากพ่อค้า ข้าราชการ และประชาชน ช่วยกันบริจาคทรัพย์สมทบทุน ได้เงิน 5.5 ล้านบาทเศษ จากกองทัพทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ กองทัพละ 50,000 บาท รวมเป็นเงินสมทบทุนทั้งสิ้น 7,077,485.22 บาท รัฐบาลจึงมอบให้กรมศิลปากร ก่อสร้างพระสถูปเจดีย์มีฐานกว้าง 36 เมตร สูงจากพื้นดินถึงยอด 66 เมตร โดยสร้างครอบพระสถูปเจดีย์องค์เดิมเอาไว้ภายใน มีทางเข้าออก 4 ประตู และได้ออกแบบปั้นพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงคชาธารออกศึก ประดิษฐานอยู่บนแท่น ที่มีฐานขนาดกว้าง 15.30 เมตร ยาว 25.55 เมตร สูง 9 เมตร เฉพาะอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวรฯ ทรงช้างศึกหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ กว้าง 2.90 เมตร ยาว 5.58 เมตร และสูง 7 เมตร ฐานทั้งสองด้านติด ภาพตอนยุทธหัตถี และตอนประกาศอิสระภาพ ณ เมืองแครง หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้เสด็จไปเปิดพระบรมรูปอนุสาวรีย์ ณ อนุสรณ์ดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ.2502 รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 18 มกราคม ของทุกปี เป็นวันถวายราชสักการะพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์และถือเป็น "วันกองทัพไทย" พร้อมกันนั้นทางจังหวัดได้จัดให้มีงานเฉลิมฉลองพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ทุกปี เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีการแสดงงานแสง สี เสียงและการทำสงครามยุทธหัตถี ระหว่าง
สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับสมเด็จพระมหาอุปราชา เพื่อให้อนุชนรุนหลังได้ชม และเลยจากเจดีย์ไปประมาณ 100 เมตร จะเป็นที่ตั้งของพระตำหนักสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภายในมีรูปปั้นของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระสุพรรณกัลยา มีผู้นิยมไปสักการบูชาอยู่เสมอ