รอยพระพุทธบาทวัดเขาดีสลักเป็นรอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างด้วยหินทรายแดง มีลักษณะแตกต่างจากรอยพระพุทธบาทที่พบตามที่อื่นๆ คือ เป็นรอยพระพุทธบาทนูนต่ำ ขนาดกว้างประมาณ 65.5 ซม. ยาว 141.5 ซม. นักโบราณคดีให้ความเห็นแตกต่างกันไป บางท่านว่าเป็น ศิลปะสมัยทวาราวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-16 บางท่านว่า แม้รูปแบบลวดลายจะคล้ายกับศิลปะสมัยทวาราวดี แต่ก็มีรูปแบบอื่นเข้ามาปะปน ซึ่งอาจเป็นผลงานที่สร้างในสมัยอยุธยา ราวพุทธศวรรษที่ 19-23 ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม นั้นเป็นการสันนิษฐานจากข้อมูลเบื้องต้น ที่ต้องหาหลักฐานอื่นๆเพิ่มเติมถึงกำเนิดที่แท้จริงของงานพุทธศิลปะชิ้นนี้ และนอกจากนี้ที่วัดเขาดีสลักแห่งนี้ ยังขุดค้นพบโพรงหินภายในมีพระพุทธรูปและโบราณวัตถุต่าง ๆอีกหลายชนิด
กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ และสร้างมณฑปทรงไทยสวยงามครอบไว้ มีการดูแลโดยรอบบริเวณอย่างดี มีถนนราดยางขึ้นสู่มณฑปบนยอดเขา มองเห็นทุ่งโล่งกว้าง และทิวเขาสลับสับซ้อนของอำเภออู่ทอง และสร้างระฆัง 72 ใบ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบรอบ 72 พรรษา
วัดเขาดีสลัก ตั้งอยู่ ตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี บนยอดเขานั้นพบเจดีย์สมัยทวารวดีแต่ถูกบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้งในสมัยอยุธยา อีกทั้งพบรอยพระพุทธบาทสลักลายมงคล ๑๐๘ ประการ สร้างด้วยหินทรายสีแดง ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๔-๑๖ (ทวารวดีตอนปลาย) แล้วยังพบพระพิมพ์ดินเผาในถ้ำบนเจดีย์ยอดเขาในนาม "พระถ้ำเสือ"
รอยพระพุทธบาทที่พบบนเขาดีสลัก แสดงถึงระบบสัญลักษณ์ในจักรวาล และพัฒนาการทางสังคมวัฒนธรรมของผู้คนสมัยทวารวดีทางฟากตะวันตกของลุ่มแม่น้ำ เจ้าพระยา โดยดูจากลายมงคล ๑๐๘ ประการ จากหลักฐานทางโบราณวัตถุสถาน แสดงให้เห็นว่า บริเวณเขาดีสลักเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวหลัง พ.ศ. ๑๐๐๐ จนมาถึงสมัยอยุธยา
และเขาลูกนี้กับเขาลูกอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เมืองอู่ทอง ตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมโบราณ...วัดนี้จึงเป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งในต้น ประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ ที่ควรช่วยทำนุบำรุงรักษา