"อาคารอนุรักษ์ " อาคารสำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง อายุกว่า ๕๐ ปี

เขียนโดย 


เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ ทางขึ้นด้านหน้าเป็นบันไดไม้แผ่นหนากว้างขวาง รับกับประตูเปิดกว้างตรงกึ่งกลาง อาคารชั้นบนมีระเบียงเล็ก ๆ ล้อมรอบ ห้องทำงานฝั่งหนึ่งมีหน้าต่างยาว สูงเกือบจรดถึงเพดาน ด้านบนเป็นบานกระทุ้งกระจก

ห้องอีกฝั่งหนึ่งมีหน้าต่างบานเตี้ยกว่า เรียงรายต่อกันไปโดยรอบ เปิดรับลม และแสงสว่างให้สาดส่องเข้ามาได้เต็มที่ ตรงกลางมีห้องโถงขนาดเล็ก มีห้องหลังโถงกลาง และห้องน้ำ ๒ ห้อง ชั้นล่างพื้นซีเมนต์ขัด เตี้ยติดกับพื้นดิน กั้นเป็นห้องเก็บเอกสารเก่า จำพวกราชกิจจานุเบกษา หมายมั่นว่าสักวันจะรื้อดูให้รู้ชัด รอบอาคารมีไม้ประดับและไม้ยืนต้นสูง ต้นปีปหลายต้นออกดอกขาวพราว และร่วงเรี่ยรายปูเต็มพื้นถนน จะนับว่าเป็นรมณียสถานแห่งหนึ่ง ก็ว่าได้

อาคารแห่งนี้เดิมเคยเป็นบ้านพักรับรองและสำนักงานของหน่วยศิลปากรที่ ๒ สุพรรณบุรี สร้างมายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๘ รวมเวลากว่า ๕๐ ปี เคยเป็นที่พักสบาย ซึ่งชาวศิลปากรหลายท่านยังรำลึกถึงอยู่เสมอ

บัดนี้ อาคารไม้หลังเก่ายังคงหยัดอยู่ อายุไม้ยั้งให้โครงสร้างโดยรวมยืนอยู่อย่างมั่นคง แต่กาลเวลาย่อมกร่อนกินจนคร่ำคราไม่มีหยุด ชิ้นเล็กส่วนน้อยของอาคารถึงเวลา ต้องซ่อมแซมดูแล ให้อยู่สบายอย่างร่วมสมัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง โดย ผอ. พนมบุตร จันทรโชติ จึงจัดทำโครงการปรับปรุงอาคารสำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง โดยหวังใจว่า อาคารแห่งนี้จะขึ้นป้ายเป็นอาคารอนุรักษ์ ที่มั่นคงแข็งแรง และยังคงรักษาคุณลักษณะของเรือนไม้เมืองร้อน ที่เปิดรับลมและแสงสว่างอย่างชาญฉลาด เป็นที่ร่มรื่นเย็นสบาย ดังเก่ากาลที่ผ่านมา

ที่มา...เด่นดาว ศิลปานนท์