"พฤติกรรม เนือยนิ่ง" นั่งทำงาน นอนเล่นมือถือ ไม่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางกาย ทำคนตายก่อนวัยมากถึง 3.2 ล้านคน

เขียนโดย 


กรมอนามัยเผยผลสำรวจคนไทยมีกิจกรรมทางกายลดลงเหลือ 68% หวั่นสุขภาพแย่ เสี่ยงโรค NCDs ตั้งเป้าเพิ่มระดับกิจกรรมทางกายในปี 2563 นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กิจกรรมทางกาย (Physical Activity) ไม่ได้จำกัดเฉพาะการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเท่านั้น

แต่รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกายใดๆ ที่ต้องใช้กล้ามเนื้อและพลังงานในชีวิตประจำวัน ทั่วไปด้วย เช่น การขึ้นบันได การเดินระหว่างอาคาร การเดิน หรือปั่นจักรยาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกกลุ่มที่มีการ เคลื่อนไหวร่างกายน้อย เรียกว่า "พฤติกรรม เนือยนิ่ง" ซึ่งคนไทยปัจจุบันกำลังมีพฤติกรรม นี้มากขึ้น เช่น นั่งทำงาน นั่งประชุม นั่งหรือนอนเล่นโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น ทำให้มีเวลาและโอกาสในการออกกำลังกายน้อย ลง จึงอยากให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มมากขึ้น เช่น ระหว่างทำงานมีการลุกยืน เดินไปดื่มน้ำ เข้าห้องน้ำทุก 1 ชั่วโมง ขึ้นลงบันไดแทนการใช้ลิฟต์ เดินหรือปั่นจักรยาน มาทำงาน ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น เพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง

"จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ปี 2552 พบว่าการมีกิจกรรมทาง กายไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรโลก ถึง 3.2 ล้านราย และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตถึง 11,129 ราย ในประเทศไทย และจากการสำรวจระดับ การมีกิจกรรมทางกายที่พอเพียงในประเทศไทยที่ผ่านมาพบว่า คนไทยมีระดับกิจกรรมทางกายที่เพียงพอลดลงจากปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 85 เหลือร้อยละ 82 ในปี 2551 และร้อยละ 68 ในปี 2557 ทำให้คนไทยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มากขึ้น อันจะส่งผลต่อภาระงบประมาณในการรักษาพยาบาล สมรรถภาพ ในการทำงาน และภาระทางสังคมในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ด้วย" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.พรเทพ กล่าวว่า กรมฯ และภาคีเครือข่ายได้ประชุมระดมสมองจัดทำแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติ โดยได้ตั้งเป้าหมายในการเพิ่มระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ จากร้อยละ 68 เป็นร้อยละ 75 ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมียุทธ- ศาสตร์ย่อยในมิติต่างๆ เช่น ระบบการศึกษา การคมนาคมขนส่ง การผังเมือง ระบบสาธารณสุข ระบบภาคธุรกิจและสถานประกอบการ การกีฬามวลชน การสื่อสารรณรงค์ ระบบ ฐานข้อมูลและการวิจัย เป็นต้น โดยจะเสนอร่างแผนยุทธศาสตร์นี้ต่อคณะ รัฐมนตรี ในต้นปี 2559 และขับเคลื่อน นโยบายส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกาย ของคนไทยร่วมกับภาคีเครือข่ายต่อไป

ด้านนพ.ชัยพร พรหมสิงห์ ผู้อำนวยการกองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอสำหรับเด็ก อายุ 6-17 ปี อย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน สำหรับกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง/หนัก สำหรับผู้ใหญ่ อายุ 18-64 ปี อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ สำหรับกิจกรรมทางกายระดับปานกลาง หรือ อย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์ สำหรับกิจกรรมทางกายระดับหนัก โดยให้มีกิจกรรมในแต่ละครั้งอย่างน้อย 10 นาทีขึ้นไป ส่วนวัยสูงอายุตั้งแต่65 ปีขึ้นไปนั้น มีข้อแนะนำเช่นเดียวกับวัยผู้ใหญ่ แต่ให้เพิ่มเติมการฝึกการทรงตัวเพื่อป้องกันการล้ม อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งด้วย โดยประชาชนสามารถดูระดับของกิจกรรมทางกายอย่างง่ายคือระดับปานกลาง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำแล้วเริ่มหายใจลำบาก แต่ยังพูดเป็นคำได้ เช่น การเดินเร็ว ส่วนกิจกรรมระดับหนัก เป็นกิจกรรม ที่ทำแล้ว หายใจหอบจนพูดไม่เป็นคำ เช่น การวิ่ง การว่ายน้ำ เป็นต้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายวัน

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ วัน, วันที่ เดือน ปี ชม:นาที