“กระเทียมชำบุ่น” แห่งน้ำปาด อุตรดิตถ์ คุณภาพหนึ่งเดียวที่ดีงาม

เขียนโดย 


หลังจากเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว ชาวบ้านชำบุ่น จะไม่ปล่อยให้ที่นาและเวลาทิ้งว่าง ในเมื่อปีหนึ่งปลูกข้าวได้หนเดียว พื้นที่แปลงนาน้อยๆ ฝากท้องไว้กับข้าวนาปีที่ได้ปีละหน เกี่ยวข้าวแล้ว ในพื้นที่ยังพอมีน้ำที่ขุดบ่อ ขุดสระ และลำห้วย พอมีอยู่ เก็บเกี่ยวข้าวเดือนพฤศจิกายน แล้วปลูก “กระเทียม” แบบธรรมชาติ แต่ไม่ใช่ว่าปลูกปล่อยตามมีตามเกิด แต่เป็นการปลูกแบบภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง

กระเทียมบ้านชำบุ่น มีชื่อเสียงมานานปีแล้ว ถึงคุณภาพความเผ็ด ฉุน หอม แกร่ง เก็บไว้ได้ไม่ต่ำกว่าครึ่งปี เป็นที่สนใจของคนทั่วไป เพราะปัญหาใหญ่ของผู้บริโภคกระเทียม คือ ผิดหวังที่ไม่อาจจะหากระเทียมที่เก็บไว้ได้นานๆ เป็นผลทำให้จำเป็นต้องซื้อกระเทียมไว้กินทีละเล็กทีละน้อย หมดแล้วค่อยซื้อใหม่ ซึ่งการซื้อกระเทียมแบบย่อยๆ จะแพงมาก ยิ่งช่วงที่ห่างจากฤดูกาล คือ เดือนเมษายนไปจนถึงปลายปี ซึ่งเป็นช่วงที่มีเทศกาลที่ต้องประกอบอาหารการกินที่ใช้กระเทียมเยอะมาก ในสงกรานต์ ปีใหม่นี้ ก็มีตั้งแต่ ส้มตำ ยำหัวหมู ปูผัดผงกะหรี่ ขี้ปลาฟัก ผัดผักรวม ลาบขม ต้มอ่อม น้ำพริกข่า คือว่า ต้มยำตำแกงทั้งหลาย กระเทียม เป็นส่วนประกอบสำคัญจนกล้าผยองตัวเองว่า “ขาดฉัน แล้วเธอจะรู้สึก”

ภูมิปัญญาการปลูกกระเทียมของชาวบ้านชำบุ่น จากเหตุผลทุนน้อย น้ำน้อย แรงงานน้อย เครื่องจักรกลทุ่นแรงมีน้อย ผลผลิตอาจจะได้น้อย แต่คุณภาพไม่น้อยแน่ หัวกระเทียมเล็ก แกร่ง ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เก็บไว้กินได้นาน มากเกิน 6 เดือน เกษตรกรรับรองคุณภาพ น่าสนใจไม่น้อยเลย

วิธีปลูก เริ่มต้นจากการเตรียมดิน โดยการถากถางตอซังข้าว พร้อมกับต้นวัชพืชต่างๆ ในแปลงนา แล้วใช้รถไถเดินตาม ไถแหวกร่องรอบตามคันนาและผ่าแบ่งเป็นช่วงๆ เพื่อเป็นทางเอาน้ำเข้า และระบายน้ำออกในกรณีน้ำมากเกินไป ดินที่แหวกร่องก็ฟื้นขึ้นมาทุบ เกลี่ยบนแปลงที่ถากตอซัง แล้วปรับหน้าดินให้เรียบ เรียกว่าปลูกแบบไม่ขุดดินทั้งผืน แต่ขุดเฉพาะร่องน้ำ ปลูกกระเทียมที่แกะเป็นกลีบๆ แล้วลงบนแปลง ระยะ 10x10 หรือ 15x15 เซนติเมตร คือถ้าใช้พันธุ์กลีบเล็ก จะใช้ระยะถี่ จะใช้พันธุ์กระเทียมที่แกะกลีบแล้ว 60-80 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่บางแปลงใช้มากถึง 120-150 กิโลกรัม ต่อไร่ ใช้ฟางแห้งคลุมแปลง รักษาความชื้นของดินในหน้าแล้งเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ได้ดีมาก โดยที่ให้น้ำเพียง 2 สัปดาห์ ต่อครั้ง ตอนเดือนที่ 3 ให้น้ำสัปดาห์ละครั้ง และเดือนสุดท้ายจะเริ่มงดให้น้ำ โดยเฉพาะ 10 วันสุดท้ายก่อนเก็บเกี่ยว จะงดน้ำเด็ดขาด ให้ต้นกระเทียมปรับสภาพตัวมันเอง คายน้ำ คายอาหารต่างๆ ออกจนหมด เหลือกระเทียมที่มีหัว เนื้อ เปลือก และสารอาหารสำคัญ เช่น อินทรีย์กำมะถัน และสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายคนเราเท่านั้น

ถามกันมาหลายคนว่า แล้วกระเทียมที่ปลูกบ้านชำบุ่น เขาใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมีกันบ้างไหม ตอบได้เลยว่า ไม่ครับ ด้วยศักยภาพพื้นที่และกรรมวิธีการปลูกแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน การไม่ไถพรวนดินทั้งแปลง จะสามารถควบคุมวัชพืชได้ดีมาก แต่ข้อเสียอาจจะมี ที่การอุ้มน้ำของดิน ชาวบ้านใช้ฟางคลุมแปลงถือว่าช่วยได้ ยาฆ่าหญ้าไม่ได้ใช้เลย ส่วนโรคแมลงมีบ้างเหมือนกัน แต่ก็เล็กน้อย พอที่จะใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เชื้อราขาวบิวเวอเรีย (Beauveria Bassiana) การปรับปรุงดินให้เหมาะสมโดยใช้ปูนขาวบ้าง และการให้ปุ๋ยโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด สะดวกสบายในการใช้ ใช้มูลสัตว์บ้าง แต่ก็หายากขึ้นทุกวัน ถ้าจะใช้มูลวัว ควาย ก็จะทำให้เกิดปัญหาหญ้าขึ้นเยอะมาก ใช้ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดดีแล้ว

การเก็บเกี่ยวสำคัญที่สุด กระเทียมชำบุ่น ต้องมีอายุนับจากวันปลูก เกิน 120 วัน บางแปลงปล่อยไปจนแห้งคาแปลง แต่ไม่ใช่ปัญหาในการมัดจุก เพราะก้านใบกระเทียมชำบุ่นเหนียวมาก แข็ง เมื่อปล่อยให้แห้งจัด น้ำหนักจะเบา ถ้าปอกเพื่อขายโดยหวังผลตอบแทนมากๆ ไม่ได้แน่ ผลผลิตจะได้ประมาณ 500-800 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งปกติกระเทียมทั่วไปให้น้ำหนักสดตามแบบการเก็บเกี่ยวสด ชั่งสดจะได้ 1,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ถือได้ว่ากระเทียมชำบุ่นให้ผลผลิตต่ำมาก แต่เรียกได้ว่าต่ำแบบคุณภาพเต็มร้อย ปลอดภัย ไร้สารพิษ เก็บไว้บริโภคได้นานวัน ผู้บริโภคและผู้ผลิตมั่นใจ ภาคภูมิใจ และพึงพอใจในผลงานนี้

คนชำบุ่นมีดีที่จะอวด คำบอกเล่าคนเก่าเขาว่า คนบ้านชำบุ่น หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านฝาย อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อก่อนเก่าเล่าขานกันมาว่า พื้นที่นี้มีการปลูก “หอมขาว” กันมานานแล้ว หอมขาว หรือกระเทียม หรือ “หอมเตียม” คนบ้านนี้กินกันมาหลายชั่วอายุคน แต่จะมีปลูกกันมานานสักเท่าใดไม่มีใครรู้ ปลูกกระเทียมแบบสมัยเก่า ก็แค่วางกลีบ หรือไม่ก็ถ้ากระเทียมสมัยนั้นกลีบเล็กๆ โตเท่าเมล็ดถั่วลิสง ก็ใช้วิธีหยอด หรือหว่านลงแปลง แล้วใช้ฟางข้าวหรือเศษหญ้ากลบทับเท่านั้น อาศัยน้ำ อาศัยอาหารพืชจากในดิน ที่ก่อนหน้าทำนาใช้วัว ควายไถนา มันก็ถ่ายมูลลงไป เหลือจากข้าวแล้วก็แบ่งให้พืชที่ชาวบ้านหว่านลงไป ผักกาดขม ผักชีลาว หอมแดง ผักชี (หอมน้อย) และกระเทียม ให้โตอีกระยะก่อนน้ำจะหมดไปจากดิน

อีกอย่างอาจจะเป็นเพราะสภาพดินบ้านชำบุ่น จะเป็นดินที่แปลกกว่าถิ่นอื่นๆ เป็นดินนาที่อยู่ชายป่าและริมน้ำ ในสภาพที่เรียกว่า ครบธรรมชาติ ป่า-น้ำ-ดิน-ฟ้า มารวมกัน ดินที่ชะล้างพังทลายจากป่าเขา ผสมกับดินจากน้ำไหลจากห้วยน้ำใหญ่ออกมามีครบ ทั้งเหนียว ร่วน ทราย และหนำซ้ำมีขี้เถ้าคล้ายดินภูเขาไฟอีกต่างหาก อะไรจะปานนั้น

เอกลักษณ์หนึ่งของกระเทียมชำบุ่น คือ การมัดจุก จะรวบรวมหัวและก้านกระเทียมที่ถอนมา และผึ่งแดดแห้งแล้วสักครึ่งกิโล ถึง 1 กิโลกรัม มัดตอกตรงปลายก้านใบ ห่างจากหัวสัก 1 คืบ แล้วพลิกกลับจุด ให้กลับปลายก้านอยู่ด้านใน และรวมมัดข้างนอกซ้ำอีก 2-3 เปาะ แล้วแต่ความยาวของก้าน จะได้จุกกระเทียมที่เล็ก กะทัดรัดและมั่นคง ดึงเด็ดหัวมารับประทานจนหมด มัดจุดก็ยังอยู่แน่นอย่างนั้น เหมาะสำหรับผูก แขวนไว้รอการใช้บริโภคนานเกินครึ่งปี อย่างที่เคยบอกไว้แต่ต้นนี่แหละ “กระเทียมชำบุ่น” แห่งน้ำปาด อุตรดิตถ์ ฝากไว้ในอ้อมใจของทุกท่านครับ

สนใจ ติดต่อได้ที่ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียมชำบุ่น โทร. (081) 973-4885, (088) 516-7203
หรือสำนักงานเกษตรอำเภอน้ำปาด (055) 481-006, (081) 036-4848

ที่มา มติชนออนไลน์ เรื่องโดย อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช

บทความอื่นๆในหมวดหมู่นี้ ปลูกต้นไม้ 1 ต้น ได้อะไรมากกว่าที่คิด »