ดังนั้น การที่คนเก่งจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาอย่างเดียว ต้นทุนชีวิตด้านอื่น ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นไม่แพ้กันแต่ก็ไม่แปลกที่คุณพ่อคุณแม่ทุกวันนี้จะส่งเสริมให้ลูกเก่ง โดยเฉพาะในสาขาวิชา "คณิตศาสตร์" วิชาที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเด็ก ๆ หลายคนในยุคนี้ ซึ่งนายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดลได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้อย่างน่าสนใจภายใต้การบรรยายพิเศษหัวข้อ “บทบาทของผู้ปกครองกับการส่งเสริมความเบ่งบานของอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของลูก” ว่า
เสริมต้นทุนชีวิตให้เด็กเก่ง สไตล์คุณหมอสุริยเดว นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี
"สังคมปัจจุบันเป็นสังคมของการแข่งขัน แบ่งเหล่า แบ่งพวก ค่านิยมในการทำความดีถดถอย เราควรใช้ชีวิตให้สุข ดี แล้วค่อยเก่ง เอาความสุขและความดีของเด็กมาก่อน ถ้าคนเรามีความสุข และเอื้อความสุขของเราสู่คนรอบข้าง เกิดสังคมที่มีความสุข แล้วความเก่งก็จะตามมาเอง อย่าทำให้ความสุขสั่นคลอน ถ้าความสุขสั่นคลอน สิ่งที่ไม่พึงประสงค์ก็จะตามมา” พร้อมกันนี้ คุณหมอยังบอกด้วยว่า สิ่งที่อยู่เบื้องหลังความเก่ง และความสำเร็จต่าง ๆ นั้น ก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ต้นทุนชีวิต” นั่นเอง
"ต้นทุนชีวิต" คืออะไร?
ต้นทุนชีวิต มาจากคำว่า Life's Assets หมายถึง ต้นทุนขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคม สติปัญญาให้คน ๆ หนึ่งสามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง ต้นทุนชีวิตเป็นปัจจัยสร้าง หรือเป็นปัจจัยเชิงบวกทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม ที่จะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเจริญเติบโตและดำรงชีพอยู่ในสังคมได้
ต้นทุนชีวิต ประกอบด้วย พลังตัวตน (ค่านิยม) พลังครอบครัว พลังสร้างปัญญา วัฒนธรรม ศาสนา สื่อ ซึ่งจากการสำรวจเด็กวัยรุ่นในไทย พบว่า ต้นทุนชีวิตที่น้อยที่สุด คือ การแบ่งปันน้ำใจ
"ทุกคนเมื่อเกิดมามีต้นทุนชีวิตในระดับหนึ่งแล้ว และจะเพิ่มขึ้นตามการเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อม แต่สังคมปัจจุบัน ทำให้ชีวิตผู้คนมีความเป็นวัตถุนิยม ห่างไกลธรรมชาติมากขึ้น พ่อแม่จำนวนไม่น้อยเลี้ยงลูกแบบ ขาดความเข้าใจในพัฒนาการ มีความคาดหวังเกินความเป็นจริงจนเกิดความเครียด อีกทั้งถ้าคุณพ่อคุณแม่เน้นเฉพาะการเสริมสร้างต้นทุนด้านวัตถุ เร่งรัดเรียน โดยขาดต้นทุนชีวิต เด็กจะกลายเป็นหุ่นยนต์ไปในที่สุด ตรงกันข้ามกับเด็กที่เกิดมาท่ามกลางครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น มีความเข้าอกเข้าใจกัน ต้นทุนชีวิตก็จะพัฒนาเพิ่มพูนเป็นทุนที่เข้มแข็ง"
หากต้นทุนชีวิตอ่อนแอ จะมีปัญหาเกิดขึ้นตามมามากมาย ยกตัวอย่าง การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เมื่อไรที่เด็กค้นหาความรักที่ควรจะมีจากพ่อแม่ จากสถาบันการศึกษา หรือกับคนที่ไว้วางใจที่มีความผูกพันไม่เจอ สุดท้ายจะไปหาความรักจากภายนอก ยาเสพติด การใช้ความรุนแรง ฯลฯ
ทำให้บ้านเป็นที่ชาร์จแบตของลูก
หลายครั้งที่บ้าน กลายเป็นแหล่งรวมความคาดหวังของพ่อแม่ หรือแม้กระทั่งสถานที่ที่ให้ความรู้อย่างโรงเรียนก็ได้กลายเป็นสถานที่ทำลายแบตเตอรี่ในชีวิตเด็ก ซึ่งไม่เกิดผลดีใด ๆ เลย หากพ่อแม่สามารถทำบ้านให้มีความสุขได้แล้ว เมื่อลูกก้าวเข้ามาในบ้าน จะทำให้ลูกเกิดความสุข อบอุ่น มีกำลังใจที่จะออกไปเผชิญปัญหาอุปสรรคนอกบ้าน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น บทบาทของการเป็นพ่อแม่ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมด้วย โดยอาจต้องเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งมี 3 ระดับ ได้แก่
ระดับที่ 1 ฟังอย่างเดียว คือ ฟังอย่างตั้งใจและมีสติ
ระดับที่ 2 ฟังแล้วเสริมกำลังใจ ทำให้ผู้เล่ามีความสุขกับการเล่า อยากเล่าต่ออีก
ระดับที่ 3 ฟังแล้วเสริมพุทธิปัญญา
“เทคนิคของการพูดคุยกับลูกนั้นจะต้อง เปิดใจรับฟัง เปิดความคิด สร้างข้อตกลงร่วมกัน เปิดโอกาสลงมือทำ สร้างทางออกที่หลากหลาย ถ้าเราคุยกัน ทำความเข้าใจกัน สร้างข้อตกลงร่วมกัน ยอมรับกันได้ เราจะไม่เป็นทุกข์” คุณหมอสุริยเดวกล่าว
ด้านนางดวงสมร คล่องสารา รองผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เจ้าภาพของกิจกรรม “ค่ายคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6” และการบรรยายพิเศษในครั้งนี้กล่าวว่า ผู้ปกครองที่เข้าร่วมในโครงการ ฯ มีบุตรหลานที่มีความสามารถพิเศษ และผู้ปกครองเองก็มีศักยภาพที่จะดูแลบุตรหลานเป็นอย่างดี ทำให้มีโอกาสดีกว่าเด็กอื่นๆ อีกหลายคน อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองส่งเสริมลูกอย่างที่เขาควรจะเป็น ไม่ควรนำความต้องการของตนเองมาผลักดันลูก ถ้าลูกได้ทำสิ่งที่ตัวเขาเองสนใจ อยากทำ และอยากเป็น เขาจะมีความสุขที่สุด แต่ถ้าผู้ปกครองให้เด็กแบกรับความคาดหวังจากพ่อแม่และสังคมรอบตัว เด็กก็จะเกิดความกดดันและเกิดความรู้สึกแพ้ไม่ได้
“ผู้ปกครองไม่ควรปลูกฝังให้เด็กมุ่งแต่การแข่งขัน เอาชนะ ถ้าเด็กแพ้ไม่เป็นจะปรับตัวอยู่ในสังคมได้ยาก อยากเห็นเด็ก ๆ มีความสุข ความมั่นใจ รู้จักรับผิดชอบต่อสังคม รู้จักการให้และแบ่งปัน”
ขอบคุณ..นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี