สร้างต้นทุนสุขภาพ ก่อนเกิดปัญหายามชรา

เขียนโดย 

 

พออายุเลย 30 อะไร ๆ ก็เสื่อมไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งหากลองสังเกตดูว่าใครที่ไม่สามารถยกของหนักได้ดังเดิม ไม่กระฉับกระเฉง

วัดส่วนสูงลดลง 1-2 เซนติเมตร หรือในคนที่อายุมากกว่านี้สักหน่อยก็มีอาการปวดหลัง ปวดเอว หลังค่อม หกล้มนิดหน่อยก็กระดูกหัก กระดูกแตก คิดเผื่อเอาไว้เลยว่านั่นอาจจะเป็นสัญญาณบอกว่าคุณกำลังมีภาวะกระดูกบาง ถึงขั้นกระดูกพรุนเลยทีเดียว นี่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เนื่องจาก รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ ยุกตะนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย บอกว่า เพราะภาวะกระดูกพรุนนี่เสี่ยงต่อการเปราะแตกของกระดูกได้ง่าย ๆ หกล้มแข้งขาหัก และที่แม้แต่บรรดาแพทย์ต่างก็หวั่นวิตกกระดูกตะโพกหัก ทำให้ผู้ป่วยถึงขั้นเดินไม่ได้ ต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเดียว แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะสามารถผ่าตัดได้ เพราะยังมีบางคนมีข้อจำกัดในหลาย ๆ เรื่องโดยเฉพาะปัญหาสุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวยให้ทำการผ่าตัดทำให้เกิดโรคแทรก ซ้อน อื่น ๆ ตามมา

ถ้าไม่ได้ผ่าตัดได้อาจจะทำให้มีโรคอื่นตามมา เช่น แผลกดทับ ปอดบวม กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และถ้าเป็นอย่างนั้นแล้วจะเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดก็ได้ เมื่อตะโพกหักแล้วอัตราการเสียชีวิตพอ ๆ กับการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านม ความรุนแรงของปัญหาพอ ๆ กัน เพราะฉะนั้นตะโพกหักเรียกว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่ในคนไข้กระดูกพรุน

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นตามวัยที่มากขึ้น แต่สามารถป้องกัน และยืดระยะเวลาการเกิดภาวะเหล่านี้ได้นานออกไปด้วยการหมั่นออกกำลังกายอย่าง สม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียม ลดปัจจัยเสี่ยงเช่น งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เลี่ยงการใช้ยาสเตียรอยด์ และการใช้ยาบางประเภท ตรงนี้คือสิ่งที่คนเราต้องสร้างเอง เพราะการมีกรรมพันธุ์ดีช่วยได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น..ที่สำคัญถ้าเริ่มได้ตั้งแต่อายุก่อน 30 ได้จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะพัฒนาการของมวลกระดูกและกล้ามเนื้อจะสร้างตัวตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 30 ปี หลังจากนั้นทุกอย่างจะเริ่มถดถอย และเสื่อมลง

ทั้งนี้ การป้องกันภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุน และมวลกระดูกถดถอยเริ่มได้ตั้งแต่วัยเด็ก คือการกระโดดโลดเต้นกลางแจ้งเพื่อรับวิตามินดีจากแสง แดด เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของมวลกระดูก และกล้ามเนื้อให้แข็งแรง และควรเน้นเรื่องการออกกำลังกายด้วยการลงนํ้าหนักเท้าแตะพื้น เช่น เดิน วิ่ง ซึ่งจะมีแรงต้านส่งจากเท้าขึ้นมาหาขา กระดูกเชิงกราน ขึ้นไปที่กระดูกสันหลังซึ่งโครงสร้างกระดูกสันหลังจะรับนํ้าหนักทั้งตัว ดังนั้นกระดูกส่วนบนตั้งแต่เอวขึ้นมาจะถูกกระตุ้นให้แข็งแรงทั่วทั้งตัวเอง โดยถ้าเป็นเด็กควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน วันละ 45 นาที ถ้าเป็นผู้ใหญ่ ก็สัปดาห์ละ 3-5 วัน วันละ30 นาที ส่วนผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุนไปแล้วการออกกำลังกายด้วยการเดิน วิ่งก็ได้ผลเช่นเดียวกัน

ถ้าออกกำลังกายเมื่ออายุ 30 ปี ทำไม่จริงจัง ทำ ๆ หยุด ๆ มวลกระดูกจะบางเร็วกว่าคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอต่อเนื่องมานาน แต่ไม่ว่าจะอย่างไรการออกกำลังกายย่อมดีกว่า เพราะการเอาแต่นั่งในห้องแอร์ หลบแดด ใช้ชีวิตแบบคนเมืองมาก ๆ หลังอายุ 30 นี่ความเสื่อมของกระดูกมาเร็วทีเดียว โดยเฉพาะผู้หญิงพอถึงอายุประมาณ 60 อัตราการเกิดกระดูกพรุนมีมากถึง 1 ใน 3 ขณะที่ผู้ชายซึ่งแข็งแรงหน่อยอาจจะพบที่อายุ 70 ปี ในอัตรา 1 ใน 4 แต่ส่วนใหญ่ก็จะมีปัญหาเรื่องกระดูก

เช่นนั้นแล้ว ต้นทุนสุขภาพที่ทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่หมั่นออกกำลังกาย ทำกิจกรรมกลางแจ้งบ้าง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรมากมาย เพียงแค่ปรับการใช้ชีวิตประจำวันของตัวเองเอง เริ่มเสียตั้งแต่อายุยังน้อย แก่ตัวไปจะได้ห่างไกลโรงหมอ

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์/ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ วัน, วันที่ เดือน ปี ชม:นาที