ยกระดับเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาสังคมคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก ผ่านกิจกรรมสื่อสีขาวสร้างสรรค์งานพระสงฆ์
ชุมชนรอยต่อระหว่างตำบลปลายนา เขตอำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรีกับอ่างทอง ปรากฏชุมชนโบราณตั้งมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 4 ผ่านจิตกรรมฝาผนังรูปธงชาติไทยพิมพ์ช้างเผือก แต่งแต้มในอาคารก่ออิฐโบราณเรียกขานว่าที่ "โบสถ์" มหาอุดเก่าแก่คู่วัดมานาน ตามตำนานชาวบ้านถางป่ามาพบองค์พระพุทธเจ้าภายในโบสถ์ ก่อนจะเรียกย่อเล่ากัดกร่อนเหลือเพียงคำว่า "พระเจ้า" จวบจนตั้งวัดจัดตั้งว่า "วัดป่าพระเจ้า"
ยามโพล้เพล้ แสงตะวันสาดส่องท้องทุ่งริมกำแพงวัด ขนาดกับถนนลาดยางแทรกตัวไปในหมู่บ้าน บรรดาพระและฆราวาสดึงตัวออกจากพาหนะทั้งรถกระบะ รถเก๋งที่จอดเรียงรายใต้ร่มเงาต้นไม้น้อยใหญ่ในพุทธประวัติ บอกเล่าเรื่องราวป่าในพุทธศาสนาอย่างครบถ้วน แทรกด้วยต้นโพธิ์ขนาดใหญ่หลายคนโอบเรียงราย กระจายตัวตามจุดต่างๆในภายในวัด ตกแต่งด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ที่มีร่องรอยการปลูกในหนึ่งถึงสองปี แต่ละต้นโตสวยขยายกิ่งก้านสาขาเป็นแถวและร่องตามแนวพื้นที่วัดอย่างเหมาะสม
พระคุณเจ้าจากวัดในภาคเหนือ อีสานและกลุ่มจัดทำสื่อจากภาคกลางและใต้ เข้าห้องประชุมกันอย่างพร้อมเพรียงเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม เวที พัฒนารูปแบบการจัดเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ การถ่ายภาพ การตัดต่อวีดีโอ เพื่อการผลิตสื่อพระสงฆ์ ณ วัดป่าพระเจ้า ต.ปลายนา อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี โดยมีพระมหาสมัย สมโย กรรมการโครงการฯภาคกลาง-ออก-ตก เจ้าอาวาสพระหนุ่มนักพัฒนารุ่นใหม่ รับอาสาเป็นเจ้าภาพสถานที่ประชุม พร้อมด้วยคณะครู นักเรียนและผู้นำชุมชน ในวันพุธ-พฤหัสบดีที่ 22-24 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา
กิจกรรมดังกล่าว จัดขึ้นอันเนื่องมาจากที่โครงการเสริมพลังเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อ สังคมควบคุมปัจจัยเสี่ยง ได้กำหนดให้มีกิจกรรมย่อยในกิจกรรมที่ 1 หมวดการประชุมคณะกรรมการแกนนำพระสงฆ์นักพัฒนาเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยง และผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกับกองงานเลขาส่วนกลาง ในหัวข้อ "การอบรมเรื่องการฝึกเทคนิค การถ่ายภาพ การจัดเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ การตัดต่อวีดีโอ เพื่อการผลิตสื่อในเบื้องต้น"
การประชุมเริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวเองและแต่ละทีมสื่อจากแต่ละภาคนำเสนอ อุปกรณ์ในการทำสื่อเกี่ยวกับการถ่ายภาพ ผลงานที่เคยทำมา จากนั้น เป็นการเล่าวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมโดยนายประญัติ เกรัมย์ ผู้ประสานงานโครงการ ซึ่งมีพระครูโพธิวีรคุณ วัดโพธิการาม อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ประธานคณะกรรมการโครงการฯภาคอีสาน มาเป็นประธานการประชุมในนามคณะกรรมการแต่งตั้ง
มีผู้เข้าร่วมเวทีประกอบพระสงฆ์ 5 รูป ฆราวาส 22 ท่าน ร่วมออกแบบวิธีการเก็บข้อมูล โดยมีคุณพิริยะ ทองสอน จากมูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน นำคุยและให้ข้อคิดแลกเปลี่ยนกับทีมทั้ง 4 ภาค ทั้งในเรื่องมุมกล้อง การปรับแสง การเลือกองค์ประกอบภาพ การคิดพลอตเรื่องและเทคนิคที่จำเป็นของอุปกรณ์ในการถ่ายทำ
ในช่วงบ่ายและค่ำ ได้มีการให้โจทย์แต่ละทีมไปถ่ายทำจริง โดยใช้กรณีพระมหาสมัย สมโย เป็นกรณีศึกษา เน้นการถ่ายทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เล่าเรื่องราวและการทำงานของพระสงฆ์นักพัฒนาในการรณรงค์ป้องกันและกำจัด ปัจจัยเสี่ยงด้านเหล้า ยาเสพติด การพนันและอบายมุขในวัด โรงเรียนและชุมชน ซึ่งผลจากการลงถ่ายเก็บจริงทำให้เห็นความถนัดและมุมมองการทำงานกับพระสงฆ์ อย่างสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องผ่านตัวพระ คนรอบข้างหรือกิจกรรรมที่ท่านทำ
พระมหาสมัย สมโย ในฐานะพระต้นแบบกรณีศึกษา กล่าวว่า " ผมทำงานพัฒนาที่นี่มากว่า 20 ปี หนึ่งในโครงการที่ทำให้ศีลธรรมกลับมา คือ โครงการคนดีศรีสุพรรณ มีผลโดยตรงมาจากโปรเจครัตนโมเดลที่ออกแบบขึ้นด้วยการมอบหมายพระในวัดทำงาน ทุกแผนกภายในวัด ทำให้ขจัดปัญหาเรื่องความคิดแตกแยกโดยมีหลวงพ่อใหญ่วัดเสือ มาช่วยจัดการ แม้ชาวบ้านจะสะท้อนว่าส่งพระเด็กๆมาทไม่ แต่ท่านบอกว่าความคิดท่านล้ำหน้า นั่นแหละเป็นผลักดันให้เราอยากทำให้ชาวบ้านเห็น พอมาดูและอยู่ก็เริ่มเนรมิตป่า ด้วยต้นไม้ที่โยมถวาย เน้นที่ความสะอาด ทำห้องทำงานเป็นจุดประสานงานกับชาวบ้าน ทำให้ทุกคนเป็นกรรมการ นั่นก็เพื่อพุ่งไปที่ไอเดีย "รัตนโมเดล" คือ การพัฒนาตัวเองให้ดี เรียนรู้อย่างหยุดนิ่ง ทำงานให้เป็นทีม"
นายดิษฐ์ศกร ชนะศรี ตัวแทนทีมสื่อจากกลุ่มพระสงฆ์นักพัฒนาภาคใต้ กล่าวว่า "ความที่วัดอยู่กับโรงเรียน เจ้าอาวาสก็เป็นพระหนุ่มรุ่นใหม่ ที่รู้จักใช้ไอซีทีและการจัดบริหารวัดให้ทุกคนเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ออกแนวสไตล์ธรรมะโมเดิร์น การเก็บงานพระที่นี่ น่าจะเริ่มต้นเข้าเรื่องจากหน้าวัด โดยมีการวอยซ์เสียงแนวสดใสพูดถึงวัดในการคุมปัจจัยเสี่ยงที่เป็นการทำงาน ร่วมกับโรงเรียน ชุมชนและคณะสงฆ์ ซึ่งจะทำให้เนื้อหาและบรรยากาศเป็นไปทางที่สมสมัยที่จะออกสื่อต่างๆใน ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น"
ด้านพระครูโพธิวีรคุณ วัดโพธิการาม อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ในนามคณะกรรมการฯ กล่าวว่า "กิจกรรมนี้ทำให้เห็นว่า มีพระรุ่นใหม่ๆที่ท่านสานต่องานพระนักพัฒนาอยู่ แต่ขาดการเชื่อมประสานให้ได้รู้จักพบปะกัน แนวทางที่ท่านทำที่ นี่มีความสำคัญเพราะท่านทำอย่างมียุทธศาสตร์และเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการทำเพื่ออะไร และจะมีใครมาเป็นทีมหนุนเสริมช่วยกันทำบ้าง โดยเฉพาะแนวคิดที่สร้างสรรค์ในชื่อ "รัตนโมเดล" จะเป็นจุดขายสำคัญของการบริหารจัดการวัดสมัยใหม่ ซึ่งการมาลงพื้นที่ถ่ายทำครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับวัด พระและคนทั่วไปในการเข้าใจบทบาทพระสมัยใหม่ และอาจเข้าไปเรียนรู้ ทำงานจิตอาสาช่วยท่านได้ในอนาคต"
"แม้ทุกวันนี้ช่องทางการสื่อสารจะมีมาก แต่การคัดเนื้องานพระที่มีคุณภาพและทำงานจริงไปเผยแพร่ผ่านสื่อต่างๆ ยังคงจำกัดอยู่มาก นั่นเพราะกระบวนการเฟ้นหาหรือการให้ความสำคัญยังอยู่ในระดับที่เรียกว่า "ขายไม่ได้" เวทีนี้ เราเชิญทีมสื่อที่ทำงานในโครงการเสริมพลังพระนักพัฒนาเพื่อสังคมควบคุม ปัจจัยเสี่ยงหลักมาเพื่อช่วยกันคิดและออกแบบว่า ถ้าเราจะเสพงานหรือนำเรื่องราวพระออกสื่อ ควรมีลักษณะแบบไหน ซึ่งก็ชัดเจนว่า เรามาถูกทางแลว โดยรูปแบบที่ได้จะนำไปใช้สำหรับการเก็บงานพระนักพัฒนาจำนวน 100 รูป (40 รูปเข้มข้น) ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศต่อไป" นายประญัติ เกรัมย์ ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวสรุปปิดท้าย
ก้าวต่อไปของงานในโครงการเสริมพลังพระนักพัฒนาเพื่อสังคมควบคุมปัจจัยเสี่ยง หลัก มุ่งผลลัพธ์เชิงประจักษ์ผ่านการนำเสนอเนื้องานจริงด้วยสื่อชนิดต่างๆ ซึ่งจะเป็นหน้าต่างโอกาสสำคัญให้สังคมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของพระนัก พัฒนาในปัจจุบัน อันจะส่งเสริมการมีศาสนทายาท การผลิตนวัตกรรมเพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงและศูนย์กลางการประสานงานเพื่อพัฒนา สุขภาวะชุมชนในที่สุด