เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการพบโครงกระดูกทารกโบราณอายุกว่า 1,700 ปีที่ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โดยการขุดค้นของคณะโบราณคดี ม.ศิลปากร บริเวณโครงการสวนพฤกษศาสตร์ ภายในเขตเมืองโบราณอู่ทอง
นายสฤษดิ์พงศ์ ขุนทรง หัวหน้าภาควิชาโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวว่า ตนได้นำนักศึกษาปริญญาตรีและปริญญาโทกว่า 120 ราย เข้าขุดค้นที่เมืองโบราณอู่ทองเพื่อฝึกภาคสนามประจำปี โดยได้รับงบประมาณราว 3 ล้านบาท จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน องค์การมหาชน (อพท.) ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย.-10 ส.ค.ที่ผ่านมา มีการขุดหลุมขนาด 2 คูณ 8 เมตร จำนวน 3 หลุม พบโครงกระดูกเด็กทารกมีสร้อยลูกปัดแก้วสีเขียวอมฟ้ามัดอยู่ที่เข่าทั้ง 2 ข้าง ลึกลงไปใต้ดินราว 1.80 เมตร ทำให้ตื่นเต้นมาก เนื่องจากไม่เคยมีรายงานการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ภายในเมืองโบราณอู่ทองมาก่อน
นายสฤษดิ์พงศ์ กล่าวว่า ที่สำคัญโครงกระดูกดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการประกอบพิธีกรรมบางอย่าง ซึ่งไม่ใช่พิธีทางศาสนาพุทธที่จะมีการเผาศพ ไม่มีการฝังในลักษณะเช่นนี้ ทำให้สงสัยว่าทารกดังกล่าวอยู่ในวัฒนธรรมที่เก่ากว่ารัฐทวารวดีซึ่งนับถือพุทธศาสนา ทางภาควิชาจึงส่งตัวอย่างผงถ่านใกล้กะโหลกศีรษะทารกไปตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีที่เรียกว่าเอ เอ็ม เอส ที่มหาวิทยาลัยไวตาโต ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเพิ่งได้รับผลตอบกลับมาเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมาว่า โครงกระดูกทารกมีอายุกว่า 1,700 ปีมาแล้ว ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่พลิกประวัติศาสตร์ ซึ่งเดิมมักเชื่อกันว่าเมืองอู่ทองเริ่มต้นที่สมัยทวารวดีแต่ความจริงแล้วเก่าไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์
"คนส่วนใหญ่รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ไปอู่ทอง จะได้รับคำโปรยว่าไปชมเมืองทวารวดี ไปดูเมืองหลวงทวารวดีแห่งแรก แต่ข้อมูลใหม่นี้ชี้ว่าอู่ทองเก่าไปกว่านั้น ซึ่งตอนที่ขุดค้น ผมและนักศึกษาทุกคนก็ไม่คิดว่าจะเก่าขนาดนี้เพราะคิดกันว่ากำลังขุดที่อยู่อาศัยหรือที่ทิ้งขยะของคนสมัยทวารวดีเพราะเจอสิ่งของต่างๆเช่นเศษหม้อลักษณะเหมือนหม้อทวารวดี แต่พอขุดไปเรื่อยๆ กลับเจอกระดูกทารกซึ่งไม่คาดคิดว่าจะเจอมาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พบโครงกระดูกมนุษย์ในเมืองโบราณอู่ทอง ซึ่งมีการทำพิธีกรรมอย่างแน่นอน เพราะมีการใช้สร้อยลูกปัดแก้วสีเขียวอมฟ้ารูปทรงกระบอกมัดเข่าไว้ พอส่งผงถ่านไปตรวจที่ ม.ไวตาโต นิวซีแลนด์ ก็เพิ่งได้รับผลมาว่าเก่าถึง พ.ศ.750-800 จึงตื่นเต้นพอสมควรว่าอู่ทองมีคนอยู่มาก่อนยุคทวารวดี โดยอยู่อาศัยต่อเนื่องไม่ขาดสาย สอดคล้องกับข้อมูลจากนักวิชาการต่างประเทศที่เคยบอกว่าอู่ทองมีคนอยู่มาก่อนหน้ายุคทวารวดี แต่ยังมีหลักฐานไม่ชัดเจนเท่านี้ การพบทารกครั้งนี้เป็นการยืนยันและเป็นหลักฐานที่หนักแน่นด้วย" นายสฤษดิ์พงศ์กล่าว และว่า นอกเหนือจากการพลิกประวัติศาสตร์แล้ว โบราณวัตถุต่างๆ เช่น ภาชนะดินเผาแบบมีสัน ซึ่งเดิมถูกจัดไว้ว่าเป็นหม้อสมัยทวารวดี ก็อาจต้องถูกนำมาพิจารณาตีความใหม่ด้วย แม้แต่ตนซึ่งสอนวิชาเกี่ยวกับโบราณคดีสมัยทวารวดี ก็ต้องมาคิดใหม่ว่ารูปแบบโบราณวัตถุไม่ได้บอกค่าอายุสมัยเสมอไป
นายสฤษดิ์พงศ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือแหล่งที่มาของลูกปัด ซึ่งต้องรอการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ต่อไป โดยจะนำรังสียิงว่าออกมาเป็นธาตุอะไรบ้าง จะได้ทราบว่ามาจากอินเดีย จีน หรือตะวันออกกลาง ซึ่งตนอยู่ระหว่างการศึกษาการค้าสมัยโบราณยุคแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ก็พบว่าอู่ทองมีความสัมพันธ์กับเมืองออกแก้วในเวียดนาม ดังนั้นอู่ทองอาจเป็นเมืองที่ชื่อและมีบทบาทมาก่อนที่จะพัฒนาเป็นรัฐทวารวดี การค้นพบครั้งนี้จึงทำให้ประวัติศาสตร์สมัยก่อนยุคทวารวดีของอู่ทองมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากโครงกระดูกทารกแล้ว บริเวณใกล้เคียงกันยังพบโบราณสถานใหม่ที่กรมศิลปากรไม่เคยพบมาก่อนจำนวน 2 หลัง หากขุดเพิ่มคาดว่าจะครอบคลุมพื้นที่ราว 10-20 ตารางเมตร โดยมีการกันพื้นที่ไว้สำหรับเป็นอาคารขุดค้นหรือศูนย์ข้อมูลเหมือนในต่างประเทศ
ด้านนายศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ กล่าวว่า การค้นพบโครงกระดูกทารกนี้สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานตั้งแต่เมื่อ 50 ปีก่อนของนายมานิต วัลลิโภดม บิดาของตน ซึ่งศึกษาร่วมกับศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดี บิดาแห่งวิชาก่อนประวัติศาสตร์ไทย ว่าบริเวณเมืองโบราณอู่ทองมีความเก่าแก่กว่ายุคทวารวดี โดยเชื่อว่าน่าจะเก่าถึง 2,500 ปี แต่ขณะนั้นนักโบราณคดีทั้งชาวไทยและต่างประเทศไม่เชื่อถือมองเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะศึกษาจากตำนานและสภาพภูมิศาสตร์ ไม่ได้ขุดค้นตามหลักวิชาการ
"มีตำนานลังกาวงศ์บอกว่า พระเจ้าอโศกมหาราชส่งพระโสณะและอุตตระมาเผยแผ่ศาสนาที่สุวรรณภูมิ พ่อผมก็เอาเรื่องนี้เป็นตัวตั้ง แล้วไปหาว่าแหล่งโบราณคดีที่ไหนในเมืองไทยที่มีร่องรอยสอดคล้อง ก็พบว่าพระพุทธรูปและเจดีย์ที่อู่ทองเป็นรุ่นเก่ากว่าที่อื่น นอกจากนี้ยังตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทร ซึ่งยุคนั้นเมื่ออินเดียเอาเรือสำเภาออกจากฝั่งน้ำคงคา ก็ตัดเข้ามาขึ้นบกแถวทวายในพม่า แล้วข้ามตะนาวศรี ผ่านราชบุรีมาอู่ทอง จากนั้นถึงจะขนถ่ายสินค้าจากอู่ทองไปจีนและตะวันออกไกล พ่อผมจึงเชื่อว่าเป็นยุคสุวรรณภูมิ แต่ตอนนั้นพูดไปแล้วไม่มีใครเชื่อ โดยเฉพาะนักโบราณคดีไทยบอกว่าเลอะเทอะแล้วพากันหัวเราะ ต่อมาเจอโบราณวัตถุมากขึ้น อย่างพวกขวานหินต่างๆ ตอนหลังบริษัทพาโนรามาที่ทำสารคดีเดินทางไปอินเดียพบเจดีย์เก่าของพระเจ้าอโศกที่บรรจุพระบรมธาตุ ชื่อปุษยคีรี ใกล้เส้นทางที่จะตัดเข้ามาฝั่งอันดามัน แล้วอู่ทองก็พบศิลาจารึกเขียนว่า ปุษยคิริ สอดคล้องกันอีก" นายศรีศักรกล่าว
ทั้งนี้ ช่วงเวลาเมื่อราว 2,500 ปีมาแล้ว ในทางสากลถือเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ เรียกว่ายุคเหล็ก ส่วนในอินเดียเรียกยุคสุวรรณภูมิ เพราะมีการติดต่อค้าขายกันกับดินแดนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งมีความมั่งคั่งทางทรัพยากร ซึ่งประเด็นเรื่องสุวรรณภูมิที่อู่ทองนี้มีผู้สันนิษฐานไว้ตั้งแต่ราว 50 ปีก่อน อาทิ นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร, นายมานิต วัลลิโภดม, นายชิน อยู่ดี รวมถึงนายศรีศักร วัลลิโภดม ตีพิมพ์รวมเล่มในศิลปวัฒนธรรมฉบับฉบับพิเศษ เรื่อง สุวรรณภูมิ อยู่ที่นี่ที่แผ่นดินสยาม" โดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อ พ.ศ.2545
......
ที่มา..http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1445142739