บ้านอนุรักษ์แย้ สุพรรณบุรี

เขียนโดย 


ท่ามกลางปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ และการทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรงในปัจจุบัน ยังมีสิ่งที่น่ายินดียิ่งที่..."หมู่บ้านอนุรักษ์แย้"

หมู่บ้าน unseen ร่วมอนุรักษ์ “แย้” สัตว์ที่ถูกล่าจนใกล้สูญพันธุ์ อยู่ใกล้วัดสุวรรณตะไล ต.หนองสะเดา อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี สถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งใหม่ บนถนนสายดอกไม้เหลืองปรีดียาธร และในเดือนเมษายนนี้ เป็นช่วงที่มีแย้มากกว่าเดือนอื่นๆ เวลาที่เหมาะที่จะดูแย้ คือเวลาที่แย้ออกหากิน ช่วงเวลา 11.00 น. ถึง 15.00 น.

 

 

 

 

 

คุณนพมาส ปานสุวรรณ เจ้าของบ้าน ที่เลี้ยงแย้ มานาน 30 ปี บอกว่า ชาวบ้านหมู่บ้านวัดสุวรรณตะไล มากกว่า 50 หลังคาเรือน จะเลี้ยงกันเกือบทุกบ้าน แต่บางบ้าน...แย้จะไม่ค่อยเข้าหาคนแบบนี้ เนื่องจากเจ้าของไม่ให้อาหารแบบใกล้ชิดเพื่อสร้างความคุ้นเคย ความรู้สึกมั่นใจในความปลอดภัยให้กับแย้ จับมาเล่น คลุกคลีกับมัน มันจะคุ้นเคยกับเรา พอเห็นคน ก็จะวิ่งมาหา ถึงเวลาเรียก ก็จะเข้ามาหา พอออกจากรูก็จะมองหาของกินอย่างเดียว แย้ที่ตนเลี้ยงไว้มีชื่อเรียกด้วย เช่นชื่อ “ไมค์” “น้องพร” “ศรเพชร” บางตัวที่มีสีสันแปลกตาก็จะเรียกว่า “เจธง” โดยตัวผู้จะมีลักษณะลำตัวใหญ่ สีสดสวย ส่วนตัวเมียลำตัวจะเล็กและสั้นกว่า

 

 แย้..."ทรัพยากรไทย ธรรมชาติแห่งชีวิต" ในแง่นิเวศวิทยา แย้เป็นเพียงสัตว์ชนิดหนึ่งที่ทำให้ระบบในธรรมชาติสมดุลเพราะแย้จะกินแมลง ที่เป็นศัตรูพืช และเป็นอาหารให้สัตว์ชนิดอื่น เช่น งู แต่หน้าที่เล็กๆ ดังกล่าว ก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้สิ่งแวดล้อมมีความสมบูรณ์ และด้วยเหตุนี้ ...แย้..จึงเป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ "สมเด็จพระเทพฯ" ทรงมีความประสงค์ให้ทุกคนร่วมกัน อนุรักษ์แย้ เพราะเป็นทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า เป็นสัตว์ที่หายากนับวันใกล้จะสูญพันธุ์ไป เนื่องจากถูกไล่ล่าเพื่อนำไปเป็นอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัยถูกทำลาย

 

 

เป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกเดียวกันกับกิ้งก่า แต่มีขนาดตัวโตกว่า และสีผิวปรับเปลี่ยนไม่ได้เหมือนกิ้งก่า ลำตัววัดจากปลายปากโดยตลอดยาวประมาณ 11.5 เซนติเมตร หางยาวประมาณ 23.8 ซ.ม. ตัวแบนหางราบ โคนหางแบนและแผ่บานออก สีข้างแผ่ขยาย ไม่มีแผงหนามที่สันหลัง ช่องหูใหญ่ เยื่อหูจมใต้ผิวหนัง หนังข้างคอมีรอยพับตามขวาง รอบลำตัวมีเกล็ดประมาณ 40 แถว เกล็ดด้านท้องใหญ่เรียงซ้อนเหลื่อมกัน เกล็ดบนหางเล็ก ใต้หางเกล็ดใหญ่เป็นสัน มีรอยพับของผิวหนังที่ด้านข้างของลำคอ ลำตัวมีสีน้ำตาลเทา หรือสีน้ำตาลเข้ม ด้านท้ายของหัว บนหลัง และด้านบนของขาหน้าและขาหลังมีจุดกลมสีขาวขอบดำกระจายหนาแน่น และเรียงเป็นระเบียบสม่ำเสมอ ด้านบนของหางมีจุดขาวเล็กๆกระจาย ใต้หางสีขาว ข้างลำตัวมีสีส้ม และมีขีดสีดำสลับกัน

 

 

เพศผู้ มีลักษณะตัวใหญ่ แข็งแรง สีสันสวยงามสดใสเห็นได้ชัด หัวใหญ่บางตัวเป็นสีเขียวอมฟ้า ใต้คางสีเทา หรือส้ม แย้ตัวผู้ที่โตเต็มที่ ขนาดลำตัวยาว 15 เซนติเมตร หางยาว 23 - 25 เซนติเมตร น้ำหนักยาว 1 - 1.2 ขีด

 

เพศเมีย มีลักษณะตัวเล็กกว่าเพศผู้ สีของลำตัวและหลังเช่นเดียวกับตัวผู้ แต่สีจะจางและไม่สดใส หัวเล็กเรียว

 


แย้จะขุดรูในบริเวณที่ไม่มีน้ำท่วมขัง ชื้นแฉะ ใน 1 รูจะมีแย้อาศัยอยู่เพียง 1 ตัวเท่านั้น ยกเว้นในช่วงที่แม่แย้กำลังเลี้ยงลูกเล็ก รูแย้ลึกลงไปในพื้นดินประมาณ 1 ฟุต และคดเคี้ยวลาดเอียงไปตามพื้นดิน ยาวประมาณ 0.5 - 1 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของดินหากดินอ่อนรูจะลึก หากดินแข็ง (หน้าแล้ง) รูจะลากยาวขนานไปกับพื้นดิน มีโพรงภายในรูเพื่อใช้ในการกลับตัวและใช้ในการวางไข่ และเลี้ยงลูก แย้จะขุดและเปิดรูเป็น 2 ช่องทางเพื่อใช้เป็นทางเข้า ออกประจำวัน 1 ทาง และช่องทางหลบหนีในกรณีที่มีภัย รูนี้เรียกว่า “ ปล่อง ” รูของแย้ตัวเมียจะมีลักษณะกลม รูแย้ตัวผู้จะใหญ่กว่ารูของแย้ตัวเมียมีลักษณะเป็นวงกลมรี

แย้กินอาหารได้โดยทั่วไปตามแหล่งที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะแมลงทุกชนิด เช่น หนอน แมงกินนูน จิ้งหรีด ปลวก หนอนนก ผลไม้ประเภท มะม่วงสุก มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า ผักหรือยอดต้นไม้เตี้ยๆ ถั่วลิสง บางแห่งกินข้าวตอก ข้าวโพด ขนมปัง ปาท่องโก๋ กุ้งฝอย

ศัตรูของแย้ ได้แก่ นกเอี้ยง นกกระปูด นกเหยี่ยว งู สุนัข แมว รวมทั้งมนุษย์

ระยะเวลาที่สามารถพบเห็นแย้จะอยู่ระหว่างเดือน พฤศจิกายน – มิถุนายน ออกหากินในเวลาเช้า 07.00 - 08.00 น. จะกลับเข้ารูในเวลา 16.00-17.00 น. ของทุกวัน ระยะทางการหากินจะอยู่ระหว่าง 10 - 20 เมตร ในช่วงออกหากินจะวิ่งเข้าวิ่งออกจากรูตลอดเวลา แย้จะชอบแดดจัด ระหว่างเดือน กรกฎาคม – ตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน แย้จะเข้าไปอยู่ในรูและปิดรูสนิทไม่สามารถพบเห็นรูได้เลย บางคนเข้าใจว่าแย้จำศีล

หลังจากที่แย้จำศีลอยู่ในรู ต้นเดือนพฤศจิกายนจะเริ่มออกมาจากรู โดยผิวของลำตัวจะมีสีดำ ร่างกายซูบผอมจนเห็นสันหลัง ต่อมาจะค่อยๆลอกคราบ เมื่อได้กินอาหารจะเริ่มอ้วน สีของลำตัวจะสดใสขึ้นดังปกติ ในราวปลายเดือนพฤศจิกายน เมื่อแย้มีสุขภาพสมบูรณ์ จะพบเห็นว่าแย้เพศผู้เริ่มกัดกัน เพื่อแย่งชิงตัวเมีย เนื่องจากช่วงเวลานี้เป็นช่วงฤดูผสมพันธุ์ แย้ตัวผู้จะผสมพันธุ์กับแย้ตัวเมีย คล้ายการผสมพันธุ์ของจิ้งจกโดยตัวผู้จะกอดรัด และตะแคงผสมพันธุ์ ระยะเวลาในการผสมพันธุ์นาน 2 - 3 นาที แย้จะให้ลูก ปีละ 1 ครั้ง หลังจากผสมพันธุ์ แย้ตัวเมียจะตั้งท้อง และวางไข่ในรู ประมาณ 10 - 15 ฟอง ขนาดของไข่เท่าปลายนิ้วก้อย ลักษณะกลมรี สีขาว นิ่มคล้ายหนัง ติดกันเป็นพวง

ระยะฟักตัวของไข่ ไม่ทราบแน่นอน ( คาดว่าประมาณการ 10 – 15 วัน ) หลังจากครบกำหนดการฟักไข่ ลูกแย้ก็จะออกจากไข่ และอาศัยอยู่ในรูราว 1 เดือน จากนั้นต้นเดือนมกราคม จะเริ่มออกจากรูมาพร้อมกับแม่หากินตามธรรมชาติโดยมีแม่คอยดูแล ขนาดของลูกแย้ในระยะนี้ตัวเล็กเท่าปากกาลูกลื่น ลำตัวยาว 1.5 นิ้ว ลูกแย้จะอยู่กับแม่อีกประมาณ 1 - 1.5 เดือน หลังจากนั้นแม่แย้จะไล่กัดลูกให้ลูกแยกไปสร้างรูอาศัยและหากินเองตามลำพัง ลูกแย้จะโตขึ้นเรื่อยๆ ในระยะ 1 ปี จะโตเท่าขนาดของนิ้วชี้ และจะโตเต็มที่ในระยะ 2 - 2.5 ปี จะมีขนาดเท่ากับหัวนิ้วโป่ง ความยาวของลำตัว 15 เซนติเมตร และจะไม่เติบโตมากไปกว่านี้ การเจริญเติบโตของแย้ขึ้นอยู่กับแหล่งความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร จากข้อมูลที่ได้รับแย้มีอายุนานถึง 8 ปี เราจะพบเห็นแย้มากในราวเดือนเมษายน

 

แย้จะแบ่งอาณาเขตการครอบครองพื้นที่ โดยในเขตๆ หนึ่งจะมีแย้เพศผู้คุมตัวเมีย 10 - 12 ตัว หากแย้แปลกถิ่นหลงเข้ามาจะถูกไล่กัด เมื่อพบศัตรูที่จะทำร้ายแย้จะวิ่งหนีและจะหยุดยกหัวขึ้นซึ่งทุกคนเข้าใจว่าแย้หยุดดูความเคลื่อนไหวของผู้รุกราน หรือศตรู แท้ที่จริงแล้วกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเคลื่อนไหวเป็นชุดเดียวกันกับกล้ามเนื้อควบคุมระบบการหายใจ ดังนั้นช่วงเวลาวิ่งหนีจึงไม่สามารถหายใจได้ จึงต้องหยุดเพื่อหายใจก่อนแล้ววิ่งต่อได้

 

บ้านอนุรักษ์แย้  คุณนพมาศ ปานสุวรรณ (ม่อน) โทร.082-2508653
ภาพและเรียบเรียงข้อมูลโดย...www.suphanclick.com

ปรับปรุงล่าสุดเมื่อ วัน, วันที่ เดือน ปี ชม:นาที